ตรวจอาการครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy/Hydatidiform mole)

  • 0 ตอบ
  • 287 อ่าน
ตรวจอาการครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy/Hydatidiform mole)

ครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ ซึ่งตัวอ่อนของทารกและรกในครรภ์มารดามีการเจริญที่ผิดปกติ และเนื้อเยื่อรกกลายเป็นเนื้องอก ส่วนมากจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย (benign tumor) ที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง ส่วนน้อย (ประมาณร้อยละ 2) ที่อาจกลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งเยื่อรก (choriocarcinoma) ที่อาจลุกลามและแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปทั่วร่างกาย

อาการมักเกิดในระยะแรก ๆ (ประมาณ 10-16 สัปดาห์) ของการตั้งครรภ์ บางครั้งอาจเกิดจากรกที่ค้างอยู่ในมดลูกหลังคลอดหรือแท้งบุตร

โรคนี้อาจพบได้ประปรายประมาณ 1 ราย ใน 1,000 รายของการตั้งครรภ์

อาจพบร่วมกับอาการแพ้ท้องรุนแรงหรือครรภ์เป็นพิษ


สาเหตุ

เกิดจากความผิดปกติของไข่ที่ถูกผสม ทำให้ไข่ที่ถูกผสมไม่มีการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนของทารกและรกที่สมบูรณ์ และเนื้อเยื่อรกกลายเป็นเนื้องอก

ตามปกติ ไข่ที่ถูกผสมจะมีโครโมโซม 23 คู่ ซึ่งมาจากไข่ของผู้หญิงและอสุจิของผู้ชายอย่างละ 23 แท่งเท่ากัน แต่ในครรภ์ไข่ปลาอุก ไข่ที่ถูกผสมจะมีโครโมโซมผิดไปจากปกติ  อาจมีจำนวนโครโมโซม 46 แท่ง ซึ่งมาจากอสุจิของชายทั้งหมด (โดยอสุจิ 1-2 ตัวผสมกับไข่ของหญิงที่ไม่มีโครโมโซม ทำให้ไม่เกิดตัวอ่อนของทารก มีแต่เนื้อเยื่อรกที่ผิดปกติล้วน ๆ เรียกว่า "ครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดสมบูรณ์" หรือ "complete molar pregnancy" คือ เป็นครรภ์ไข่ปลาอุกล้วน) หรือ 69 แท่ง (เป็นโครโมโซมจากหญิง 23 แท่ง กับจากชาย 46  แท่ง จากการที่ไข่ผสมกับอสุจิ 2 ตัว ทำให้เกิดตัวอ่อนของทารกที่ผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถอยู่รอดได้ และเนื้อเยื่อรกที่ผิดปกติ เรียกว่า "ครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดไม่สมบูรณ์" หรือ "Incomplete molar pregnancy" คือ เป็นครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับมีทารก)

มักพบในหญิงอายุมากกว่า 35 ปี หรืออายุน้อยกว่า 20 ปี

หญิงที่เคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกหรือเคยแท้งบุตรมาก่อน มีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกมากกว่าปกติ

อาการ

อาการมักเกิดหลังตั้งครรภ์ใหม่ ๆ พบว่าขนาดของมดลูกโตเร็วกว่าปกติ คลำได้ขนาดของมดลูกโตกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังพบอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดคล้ายกับแท้งบุตร

มักจะพบว่าทารกในท้องไม่ดิ้น และมีอาการแพ้ท้อง คือคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง

บางครั้งอาจมีชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายไข่ปลาอุกหลุดออกมาทางช่องคลอด ด้วยเหตุนี้จึงเรียกโรคนี้ว่า ครรภ์ไข่ปลาอุก

บางรายอาจมีเลือดออกนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนจนทำให้มีอาการซีด อ่อนเพลีย

ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ร่วมด้วย เนื่องจากฮอร์โมนเอชซีจี (ที่รกสร้าง) มีปริมาณสูงจะมีฤทธิ์อ่อน ๆ ในการกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ) หรือครรภ์เป็นพิษ (ปวดศีรษะ ตามัว เท้าบวม ตรวจพบความดันโลหิตสูง และสารไข่ขาวในปัสสาวะ)


ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยอาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษ (ซึ่งจะพบก่อนอายุครรภ์ 5 เดือน) และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินร่วมด้วย

ราวร้อยละ 5 ของผู้ป่วยไข่ปลาอุกชนิดไม่สมบูรณ์ และร้อยละ 15-20 ของผู้ป่วยไข่ปลาอุกชนิดสมบูรณ์ อาจมีอาการของโรคไข่ปลาอุกกำเริบต่อไปหลังการรักษาด้วยการขูดมดลูก (นำเนื้อเยื่อครรภ์ไข่ปลาอุกออกไป) เนื่องจากมีเนื้อเยื่อรกที่เป็นเนื้องอกผิดปกติติดค้างในมดลูกและเจริญต่อไปได้ (เรียกว่า "Persistent gestational trophoblastic neoplasia (GTN)") ซึ่งอาจลุกลามเข้าไปในผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอด

บางรายอาจกลายเป็นมะเร็งเยื่อรก (ซึ่งพบในครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดสมบูรณ์มากกว่าชนิดไม่สมบูรณ์) ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่น้อยมาก คือ การติดเชื้อเนื่องจากมีเนื้อเยื่อรกที่ตายค้างอยู่ในมดลูก ซึ่งอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกาย อาจพบความดันโลหิตสูง ซีด ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจฮอร์โมนเอชซีจี ในเลือดและปัสสาวะซึ่งจะพบว่ามีขนาดสูงกว่าที่พบในการตั้งครรภ์ปกติ

แพทย์จะทำการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจชิ้นเนื้อ

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะทำการขูดมดลูก และให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดคุมกำเนิดนาน 6 เดือนภายหลังการขูดมดลูก หรือทำการผ่าตัดมดลูกตามแต่สภาพของผู้ป่วย ถ้าอายุมากหรือมีบุตรเพียงพอ อาจทำการผ่าตัดเอามดลูกออก

หลังจากนั้น แพทย์จะนัดมาตรวจระดับเอชซีจีในปัสสาวะ และเอกซเรย์ปอดเป็นระยะ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่อสังเกตว่าจะมีการกำเริบหรือกลายเป็นมะเร็งหรือไม่

ถ้าพบว่าระดับเอชซีจีไม่ลด หรือกลับเพิ่มขึ้น (ซึ่งแสดงว่าเป็น persistent gestational trophoblastic neoplasia) แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูก หรือเคมีบำบัด เช่น เมโทเทรกเซต (methotrexate), แดกติโนไมซิน (dactinomycin ), ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide), วินคริสทีน (vincristine) เป็นต้น หลังจากโรคทุเลา ผู้ป่วยที่ไม่ได้ตัดมดลูก ควรกินยาเม็ดคุมกำเนิดนาน 12 เดือน

ในรายที่กลายเป็นมะเร็งเยื่อรก (choriocarcinoma) แพทย์จะให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน บางรายแพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัด หรือรังสีบำบัดร่วมด้วย

ผลการรักษา สามารถรักษาให้หายขาดเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่มะเร็งเยื่อรก ถ้ายังไม่แพร่กระจายไปที่อื่นก็รักษาให้หายขาดได้แทบทุกราย

การดูแลตนเอง

หากสงสัยหลังตั้งครรภ์พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด มดลูกโตเร็วกว่าปกติ ทารกในท้องไม่ดิ้น มีอาการแพ้คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง มีชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายไข่ปลาอุกหลุดออกมาทางช่องคลอด หรือมีอาการของต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (เหนื่อยง่าย ใจสั่น) หรือครรภ์เป็นพิษ (ปวดศีรษะ ตามัว เท้าบวม) ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด ซีด มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดศีรษะ ตามัว หรือเท้าบวม 
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล

สำหรับผู้ที่เคยเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์ในการวางแผนที่จะมีการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แพทย์มักจะแนะนำให้คุมกำเนิดนาน 6-12 เดือนก่อนที่จะตั้งครรภ์ใหม่ และเมื่อตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์ให้เร็วขึ้นรวมทั้งการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นและให้การดูแลรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ถ้ามีอาการที่น่าสงสัย เช่น มดลูกโตเร็ว เลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย หรือแพ้ท้องรุนแรง ควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลให้แน่ใจ และถ้าเป็นโรคนี้จริง ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรักษากับแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง ก็มีทางรักษาให้หายขาดได้ (ถึงแม้จะกลายเป็นมะเร็งเยื่อรกก็ตาม) แต่ถ้ากลายเป็นมะเร็งเยื่อรกแล้วไม่ได้รักษาจริง ๆ จัง ๆ ก็อาจแพร่กระจายไปทั่วตัว เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

2. หลังจากรักษาจนหายขาด ผู้ป่วยที่มีอายุไม่มากและยังไม่ได้ผ่าตัดมดลูก สามารถมีบุตรได้ใหม่ และโอกาสจะเป็นโรคนี้ซ้ำอีกมีน้อยมาก (ประมาณร้อยละ 1)


 

โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี google ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google