หมอออนไลน์:โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)Inflammatory Bowel Disease หรือ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ใช้เรียกโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของลำไส้และทางเดินอาหาร อย่างโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์น ซึ่งโรคนี้จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติภายในลำไส้ เช่น ถ่ายเหลวปนเลือด ปวดท้อง หรือเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย เป็นต้น โดย Inflammatory Bowel Disease นั้นพบมากในผู้ที่มีอายุ 15-40 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยเช่นกัน
อาการของ Inflammatory Bowel Disease
อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดการอักเสบ อย่างทางเดินอาหารหรือลำไส้ใหญ่ ซึ่งหากพบหรือสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคนี้ ควรไปพบแพทย์ โดย Inflammatory Bowel Disease อาจทำให้มีอาการ เช่น ปวด หรือปวดบีบบริเวณท้อง ปวดอุจจาระอย่างรุนแรงและฉับพลัน ท้องเสียบ่อย อุจจาระปนเลือด เป็นไข้ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยบางรายอาจอาเจียนและเกิดภาวะโลหิตจางและระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำลงจากการเสียเลือด เนื่องจากแผลในลำไส้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้น้อยร่วมด้วย เช่น ปวดข้อต่อ ตาแดง ปวดตา มีตุ่มบวมแดง และมีอาการของดีซ่าน เป็นต้น Inflammatory Bowel Disease เป็นโรคเรื้อรัง จึงมีบางช่วงที่อาการอาจกลับมารุนแรง รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ของโรคด้วย อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะหายหรือบรรเทาลงเมื่อผ่านไปสักระยะ
สาเหตุของ Inflammatory Bowel Disease
สาเหตุการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคได้ ดังนี้
ระบบภูมิคุ้มกัน สาเหตุที่ทำให้ลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นอาจเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันมองว่าอาหาร แบคทีเรียและไวรัสชนิดไม่เป็นอันตรายที่อาศัยอยู่ภายในลำไส้นั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงพยายามกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกจากร่างกายเป็นผลให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรัง
กรรมพันธุ์ ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น ๆ นอกจากนี้ คนผิวขาวอาจเสี่ยงเกิดโรคนี้สูงกว่าเชื้อชาติอื่นด้วย
บุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสในการเกิด Inflammatory Bowel Disease ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
สภาพแวดล้อม ในบางกลุ่มประเทศหรือบางพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก อาจมีโอกาสเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่อื่น เนื่องจากมลพิษและสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
ยาแก้อักเสบ การใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค นาพรอกเซน รวมถึงยาอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น Inflammatory Bowel Disease รวมทั้งอาจส่งผลให้อาการของโรคนั้นรุนแรงขึ้น
การวินิจฉัย Inflammatory Bowel Disease
การตรวจและวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดมีจุดประสงค์เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางที่เป็นอาการของโรค รวมทั้งนับจำนวนเม็ดเลือดขาวที่ร่างกายผลิตมากกว่าปกติเมื่อมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เพื่อหาเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียภายในร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเลือดด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น วัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate) การตรวจหา C-Reactive Protein (CRP) ในเลือด ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการอักเสบ ตรวจหาสารภูมิต้านทานต่าง ๆ ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิต้านตนเอง และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย
การแสดงภาพภายในลำไส้
การแสดงภาพในลำไส้มีด้วยกันหลายวิธี เช่น การเอกซเรย์หรือการฉายรังสีเพื่อแสดงภาพแบบทั่วไป การเอกซเรย์ด้วยการกลืนหรือสวนแป้งแบเรียม (Barium X-ray) ที่จะทำให้แสดงภาพในลำไส้ชัดเจนขึ้น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอ็มอาร์ไอซึ่งเป็นวิธีการแสดงภาพภายในด้วยคลื่นไฟฟ้าและแม่เหล็ก และการอัลตราซาวด์ที่เป็นการแสดงภาพด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นต้น
การตรวจอุจจาระ
การตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาเลือดที่อาจปนมาด้วยซึ่งบ่งบอกถึงแผลในลำไส้หรือกระเพาะ นอกจากนี้แพทย์อาจเก็บและส่งตัวอย่างอุจจาระไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการเพื่อหาแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง
การส่องกล้อง
การส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย Inflammatory Bowel Disease มีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นที่ใช้ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้หรือปวดท้อง การส่องกล้องแบบแคปซูลเพื่อวินิจฉัยโรคโครห์นด้วยวิธีการรับประทานแคปซูลที่บรรจุกล้องเข้าไป การส่องกล้องโดยใช้อุปกรณ์ขยายลำไส้และหลอดอาหารใช้เพื่อสังเกตภายในลำไส้เล็กส่วนต้นในกรณีที่การส่องกล้องอื่น ๆ เข้าไม่ถึง การส่องกล้องในลำไส้ใหญ่เพื่อตัดเก็บเนื้อเยื่อลำไส้มาตรวจสอบด้วยการสอดทางทวารหนัก และการส่องลำไส้ใหญ่ส่วนคดเป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่ลำไส้ใหญ่มีการอักเสบอย่างรุนแรง เป็นต้น
การรักษา Inflammatory Bowel Disease
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจึงมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการของโรคและยับยั้งการกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
การดูแลตนเอง
การดูแลตนเองเป็นวิธีที่จะช่วยลดและป้องกันอาการรุนแรงขึ้นด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดอาหารไฟเบอร์สูง อาหารไขมันสูง และอาหารที่ทำจากนม งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด และคาเฟอีน รวมทั้งงดสูบบุหรี่และควบคุมความเครียด เป็นต้น นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารเสริมสำหรับสารอาหารที่ร่างกายขาดไป และควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยหลายมื้อแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ รวมทั้งดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสม
การใช้ยา
ยาที่ใช้ในการรักษา Inflammatory Bowel Disease อาจมี ดังนี้ ยาแก้อักเสบ อย่างยาเมซาเลซีน บอลซาลาไซด์ หรือโอลซาลาซีน ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น อินฟลิซิแมบ อะดาลิมูแมบ โกลิมิวแมบ เป็นต้น ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกรณีเกิดการติดเชื้อ เช่น ยาไซโปรฟลอกซาซิน เมโทรนิดาโซล เป็นต้น รวมถึง ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ท้องร่วง ยาแก้ปวด ธาตุเหล็กสำหรับผู้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร วิตามินดีและแคลเซียมเนื่องจากโรคโครห์นและสเตียรอยด์ที่ใช้ในการรักษาอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
การให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือด
แพทย์อาจให้อาหารพิเศษผ่านทางท่ออาหารแก่ผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของลำไส้ โดยการรักษาวิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ระยะเวลาหนึ่ง
การผ่าตัด
การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่การรักษาอื่น ๆ ไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการได้ โดยแพทย์จะผ่าตัดนำลำไส้ใหญ่และลำไส้ส่วนทวารหนักออก จากนั้นแพทย์จะสร้างระบบลำไส้และถุงบรรจุของเสียเพื่อทดแทนส่วนที่นำออกไป อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคโครห์นนั้น การผ่าตัดอาจได้ผลเพียงชั่วคราว โดยแพทย์จะนำทางเดินอาหารส่วนที่ผิดปกติออกและเชื่อมต่อส่วนที่ปกติเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการเย็บแผลในลำไส้และกำจัดฝีที่พบภายในทางเดินอาหารด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของ Inflammatory Bowel Disease
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอาจมี ดังนี้
โรคมะเร็งลำไส้ ผู้ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์นมีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพภายในลำไส้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
ภาวะขาดธาตุเหล็ก ภาวะขาดสารอาหาร และภาวะโลหิตจาง เนื่องจากมีเลือดออกในลำไส้
ผิวหนัง ดวงตา และข้อต่ออักเสบ อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีกลับมามีอาการลำไส้อักเสบอีกครั้ง
โรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นปฐมภูมิ เกิดจากแผลเป็นภายในลำไส้ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบ ส่งผลให้ท่อน้ำดีนั้นตีบลงและสร้างความเสียหายให้ตับอย่างช้า ๆ
ลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง
ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอาจมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ควรระวังการใช้ยาไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน และไดโคลฟีแนคที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดแต่ก็มีความเสี่ยงจะทำให้อาการทรุดลงเช่นกัน ยากลุ่มคอร์ติสเตียรอยด์นั้นหากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน ความดันเลือดสูง และโรคอื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ โรคโครห์นอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้อุดตัน ขาดสารอาหาร ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น ส่วนโรคลำไส้ใหญ่อักเสบอาจทำให้เกิดการพองตัวของลำไส้ ลำไส้ใหญ่ทะลุ และอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงได้
การป้องกัน Inflammatory Bowel Disease
Inflammatory Bowel Disease นั้นอาจเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ จึงไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังสามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นอาการของโรค เช่น อาหารจากนม อาหารรสจัด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น รวมทั้งควรออกออกกำลังกายอย่างเหมาะสมอยู่เป็นประจำเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นไปพบแพทย์และตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจลำไส้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ รวมทั้งควบคุมและหาวิธีบรรเทาความเครียดอย่างเหมาะสม หากกลับมามีอาการของโรคควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่ควรท้อแท้หรือหงุดหงิดกับอาการที่เกิดขึ้น และอาจหาวิธีระบายความเครียดและทำความเข้าใจในโรค อย่างการเข้ากลุ่มบำบัดสำหรับผู้ที่มีปัญหาเดียวกัน