โรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)

  • 0 ตอบ
  • 1377 อ่าน
โรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)
« เมื่อ: 19กรกฎาคม2024, 14:36:33pm »
โรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)

โรคไวรัสตับอักเสบซี

ภาวะตับอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การใช้ยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเสริมอาหารบางประเภท การได้รับสารพิษ โรคไขมันเกาะตับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และโรคพันธุกรรมบางโรค เป็นต้น

ประชากรทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 3% ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีมักจะไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ เพราะผู้ป่วยในระยะแรกของโรคมักจะไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังจะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับตามมาได้


สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการรับเลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่าง

    การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ
    การรับเลือดที่ไม่ผ่านการคัดกรองตรวจหาเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับเลือดก่อนปี พ.ศ. 2533 ซึ่งยังไม่มีการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
    การฉีดยาที่ใช้เข็มฉีดยาซ้ำๆ หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
    การสักหรือเจาะร่างกายด้วยเข็มที่ใช้ร่วมกับผู้อื่นซ้ำๆ
    การใช้สิ่งของที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อไวรัสร่วมกัน เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน และใช้หลอดสูดสารเสพติด เช่น โคเคน

ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์อยู่ที่ประมาณ 5% โรคไวรัสตับอักเสบซีไม่ติดต่อทางการกอด จูบ ไอ จาม การรับประทานอาหารที่ใช้อุปกรณ์ทานอาหารร่วมกัน หรือการสัมผัสใด ๆ ที่ไม่ปนเปื้อนเลือด


อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี

ในระยะแรกผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีมักจะไม่มีอาการ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย ความอยากอาหารน้อยลง คลื่นไส้ อ่อนแรง ปวดข้อและกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด แต่อาการเหล่านี้มักพบได้ไม่บ่อย


การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี

บุคคลทั่วไปควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซีอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ด้วยการตรวจเลือด “anti-HCV หรือ HCV antibody” และในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติใช้เข็มฉีดสารเสพติด ควรได้รับการตรวจคัดกรองซ้ำเป็นประจำ หากตรวจพบ anti-HCV ในเลือดแล้ว จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวางแผนในการรักษา ได้แก่ ตรวจค่าการทำงานของตับ ปริมาณไวรัสในเลือด ตรวจอัลตราซาวด์ตับ ตรวจวัดความยืดหยุ่นของตับโดยการทำไฟโบรสแกน หรือเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ ซึ่งปัจจุบันมีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับลดลง

นอกจากนี้แพทย์มักจะสั่งตรวจหาการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันของไวรัสตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบบี หากไม่พบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอและบี แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วยกับไวรัสตับอักเสบซีผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาไวรัสทั้งสองชนิด


การรักษาผู้ที่ติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี มีทั้งหมด 6 ชนิด หรือ 6 genotype ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีชนิดรับประทานในปัจจุบันสามารถครอบคลุมการรักษาไวรัสได้ทั้ง 6 ชนิด โดยมีอัตราการหายขาดสูงมากกว่า 90% หากไม่มีโรคตับแข็งมาก่อน ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ก่อนกินยารักษาไวรัสเสมอ  เพื่อแพทย์จะได้ช่วยประเมินยาโรคประจำตัวที่รับประทานต่อเนื่องมาก่อนและเฝ้าระวังผลข้างเคียงของการรักษา ระยะเวลาในการรับประทานยาอยู่ระหว่าง 3 - 6 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส (genotype) ภาวะตับแข็ง และการรักษาก่อนหน้านี้ เพื่อให้ผลการรักษามีความสำเร็จผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับประทานยาสม่ำเสมอและตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา

หลังการรักษาแล้วผู้ป่วยควรได้รับการตรวจติดตามการนับจำนวนไวรัสเมื่อครบ 3 - 6 เดือน เพื่อตรวจว่าหายขาดจากการติดเชื้อหรือไม่ ผู้ที่เป็นตับแข็งไปแล้วควรได้รับการทำอัลตราซาวด์ตับและเจาะเลือดตรวจค่า AFP ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งตับระยะต้น เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้แม้ความเสี่ยงนั้นจะลดน้อยลงหลังรักษาไวรัสตับอักเสบแล้วก็ตาม

ผู้ป่วยที่รักษาไวรัสตับอักเสบซีหายขาดแล้ว จะไม่ได้มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อซ้ำ ผู้ป่วยจะยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้หากรับเชื้อมาอีก


การอยู่กับโรคตับอักเสบซี

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีจำเป็นต้องได้รับวัคซีนบางชนิดหรือหลีกเลี่ยงสารที่อาจเป็นอันตรายต่อตับ

    การตรวจคัดกรอง ผู้ที่เป็นตับแข็งแล้วอาจจะทำให้มีแรงดันในหลอดเลือดช่องท้องสูงซึ่งทำให้มีหลอดเลือดโป่งพองในหลอดอาหารได้ จึงควรทำการส่องกล้องตรวจคัดกรองตามที่แพทย์แนะนำ พร้อมกับอัลตราซาวด์ทุก 6 เดือนและเจาะเลือดตรวจค่า AFP เพื่อคัดกรองหามะเร็งตับระยะเริ่มต้น
    วัคซีน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบซี แต่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบเอและบีควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวและวัคซีนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
    หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาที่อาจทําลายตับของคุณ ผู้ป่วยโรคตับอักเสบจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำลายสุขภาพตับ
        เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
        การสูบบุหรี่
        ภาวะน้ำหนักเกิน
        ผลิตภัณฑ์สมุนไพร
        ผลิตภันฑ์อาหารเสริม
        ยาบางชนิด

 

โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี google ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google