ปัญหาของระบบน้ำประปาก็คือ ในช่วงแรกใช้ดี แต่นานๆไปเริ่มมีปัญหา ส่วนมากปัญหาพวกนี้มาจากการติดตั้งตอนแรก…ที่มีปัญหา…แต่แค่ผู้ใช้ไม่รู้
ระบบน้ำประปาสำคัญไม่แพ้ระบบอื่นเลย มันยุ่งยากและมีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆเยอะด้วย แถมวิธีการติดตั้งก็ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทางอีก
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต ผมได้สรุปข้อมูล ‘วิธีการติดตั้งระบบน้ำประปาในบ้าน’ ให้ทุกคนใช้เป็นแนวทางดู
ระบบจ่ายน้ำประปาในบ้านที่ดี ขึ้นอยู่กับความสูงของตึก หากเป็นตึกที่เล็กกว่าสามชั้น สามารถใช้ระบบจ่ายน้ำขึ้นผ่านถังเก็บชั้นล่าง แต่ถ้าเป็นอาคารที่สูงกว่าสามชั้นขึ้นไป ต้องทำเป็นระบบจ่ายน้ำลง โดยเราต้องมีถังเก็บน้ำไว้ด้านบนของอาคาร คุณสามารถติดตั้งปั๊มน้ำหรือวาล์วปิดเปิดเพื่อควบคุมแรงดันน้ำให้เหมาะสมสำหรับแต่ละชั้นได้
ระบบจ่ายน้ำประปาในบ้าน
เราสามารถแบ่งระบบจ่ายน้ำประปาในบ้านได้สองรูปแบบ คือ ระบบจ่ายน้ำขึ้น และ ระบบจ่ายน้ำลง
ทำไมต้องมีการจ่ายน้ำขึ้นลง?
คำตอบก็คือเพราะว่าแรงดันน้ำจะขึ้นอยู่กับระยะทางที่น้ำไหล และความเร็วของน้ำ (ซึ่งความเร็วก็มาจากแรงโน้มถ่วงกับปั๊มน้ำนั่นเอง)
หากเข้าใจพื้นฐานกันแล้วมาลองดูระบบจ่ายน้ำทั้งสองแบบกันเลยครับ
ระบบจ่ายน้ำขึ้น
ระบบจ่ายน้ำขึ้นเหมาะกับอาคารหรือบ้านที่มีความสูงประมาณ 3 ชั้นหรือต่ำกว่า
โดยที่การจ่ายน้ำจะสามารถใช้ผ่าน การจ่ายตรงจากประปาหลัก หรือไม่ก็จาก การจ่ายผ่านปั๊มน้ำก็ได้
การจ่ายตรงจากประปาหลัก จะมีแรงจ่ายน้ำน้อยกว่าเพราะเราต่อน้ำตรงออกมาจากท่อน้ำหลักเข้าท่อน้ำในบ้านเลย การทำระบบน้ำแบบนี้เหมาะกับบ้านที่มีความสูงต่ำกว่าสองชั้นเท่านั้น และถ้าเรามีการเปิดน้ำพร้อมกันหลายที่อาจจะมีบางจุดที่น้ำไม่พอหรือไม่ไหลได้ด้วย
ในปัจจุบัน บ้านเรือนส่วนมากจะใช้ ระบบประปาจ่ายผ่านปั๊มน้ำแทนมากกว่า เพราะจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องแรงดันน้ำหรือน้ำไม่ไหลบางจุดภายหลัง ซึ่งระบบจ่ายน้ำผ่านปั๊มจะต้องเดินน้ำผ่านถึงเก็บน้ำด้วย (ถึงน้ำบนดินหรือใต้ดินก็ได้)
ถ้าเรามีถังเก็บน้ำ เราควรจะติดตั้งท่อบายพาสด้วย ท่อบายบาสคือท่อที่มีไว้ลำเลียงน้ำจากมิเตอร์ถึงเข้าอาคารเราโดยไม่ผ่านปั๊ม เป็นระบบสำรองที่ไว้ใช้เวลาปั๊มไม่ทำงาน
ในกรณีที่เราใช้ปั๊มน้ำ เราไม่ควรเดินน้ำเข้าระบบประปาตรงโดยไม่ผ่านถังเก็บน้ำ เพราะน้ำจากระบบหลักจะถูกนำมาใช้ในบ้านเราทั้งหมด และจะส่งผลกระทบต่อระบบการใช้น้ำส่วนรวมของเพื่อนบ้าน (และยังผิดกฎหมายด้วย)
ระบบจ่ายน้ำลง
ระบบจ่ายน้ำลง ทำงานด้วยการสูบน้ำจากท่อหลักขึ้นไปยังถังเก็บน้ำบนอาคาร
โดยน้ำจากถังเก็บน้ำจะถูกจ่ายมาที่ตัวอาหารผ่านทางแรงโน้มถ่วง
วิธีนี้เหมาะสำหรับอาคารที่มีความสูงมากกว่า 3 ชั้นขึ้นไป และยิ่งอาคารสูงเท่าไร น้ำยิ่งไหลแรงขึ้น ยิ่งน้ำมีเวลาไหลเยอะ น้ำยิ่งไหลแรง (เท่ากับว่าน้ำจะไหลแรงสุดในชั้นล่าง)
สิ่งที่ควรระวังก็คือยิ่งอาคารมีความสูงมาก ความดันน้ำก็จะยิ่งเยอะ และระบบน้ำก็อาจจะล้มได้ เช่นกรณีที่ท่อแตกเพราะรับแรงดันน้ำไม่ไหวเป็นต้น หากอาคารมีความสูงมากกว่า 12 ชั้น หรือมากกว่า 56เมตรขึ้นไป ระบบน้ำจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความดันน้ำ
วิธีแก้ปัญหาความดันน้ำในตึกสูงก็คือการติดตั้งวาล์วต่างๆเพื่อช่วยลดความดันท่อตามชั้นต่างๆ และข้อแนะนำก็คือให้เลือกอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานสูงไว้ก่อน
การประหยัดงบระยะสั้นเพื่อที่จะมาแก้งานทีหลังมันไม่ค่อยคุ้มครับ ยิ่งถ้าคุณเป็นผู้รับเหมาที่ติดตั้งตึกใหญ่แล้ว คุณคงไม่อยากเอาชื่อเสียงคุณมาเสี่ยงกับค่าวัสดุประปาไม่เท่าไร
ปัญหาตรงกันข้ามก็คือ แรงดันน้ำของท่อชั้นบนอาจจะน้อยเกินไป ทำให้น้ำไม่ไหล หรือไหลช้า สิ่งที่ต้องติดตั้งก็คือเครื่องสูบน้ำและถังรับแรงดันนั่นเอง หรือไม่คุณก็ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำมีระยะห่างจากระบบน้ำชั้นบนสุดอย่างน้อย 10 เมตรก็ได้ครับ
อีกหนึ่งทางเลือกคือการทำสองระบบเพื่อรับรองชั้นบนและชั้นล่าง โดยที่ชั้นล่างๆให้ใช้ระบบปกติ แต่ชั้นบนที่มีระยะน้อยกว่า 10 เมตรให้เลือกใช้ปั๊มน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำไหลช้า
ท่อน้ำประปาในบ้าน
ท่อประปาสำหรับระบบน้ำในบ้านมีอยู่หลายประเภทให้เลือก โดยทั่วไปแล้วจะใช้ท่อขนาด ½” ถึง ¾” กันสำหรับท่อน้ำดีในสมัยก่อนคนนิยมใช้ท่อเหล็กแต่ปัจจุบันท่อPVC ก็เป็นที่นิยมมากเพราะมีราคาดีกว่า และมีความทนทานมากกว่า
ท่อสำหรับการเดินระบบน้ำดีได้แก่
ท่อพีวีซีแข็งสีฟ้า (หรือท่อพีวีซีทั่วไปนั่นเอง) เป็นท่อที่เหมาะกับงานประปาในอุณหภูมิปกติ โดยที่เราต้องเลือกขนาดแรงดันให้เหมาะกับการใช้งานด้วย สำหรับท่อน้ำดีแล้ว เราเลือกแค่ท่อชั้นแรงดัน 8.5 กับ 13.5 แค่นั้นพอ
ท่อ PPR ท่อPPR เป็นสินค้าใหม่ที่เหมาะสำหรับท่อน้ำร้อนมาก ข้อดีก็คือติดตั้งง่ายกว่าท่อพีวีซี (แต่ต้องมีเครื่องมือเฉพาะ) แต่ก็มีราคาแพงกว่าและหาซื้อยากกว่าเช่นกัน ท่อPPR ทนแรงกระแทกได้ไม่ดีเท่าท่อพีวีซี
ท่อเหล็ก ทุกวันนี้ยังมีการใช้ท่อเหล็กและท่อทองแดงอยู่ ซึ่งส่วนมากก็ใช้สำหรับท่อน้ำร้อนเช่นกัน ท่อเหล็กต้องทีการเคลือบทองแดงเพื่อการลดปัญหาการเกิดสนิม
หากสนใจอย่างอ่านเรื่องวิธีการเดินท่อสำหรับระบบอื่นเช่น ระบบน้ำทิ้ง หรือท่อโสโครก ผมแนะนำให้อ่านบทความของผมที่ คู่มือเลือกซื้อท่อพีวีซี (ตัวอย่างสำหรับงานประปาทุกชนิด)
การเดินท่อน้ำประปาในบ้าน
การเดินท่อภายในอาคารสำหรับระบบประปามีอยู่สองรูปแบบคือท่อลอยตัว และท่อเป็นฝังผนัง
สำหรับ การติดตั้งท่อแบบลอยตัว จะมีประโยชน์ตรงที่ซ่อมบำรุงง่าย และเหมาะสมกับเวลาที่เราต้องมาแก้หรือเพิ่มระบบภายหลัง
เช่นในบ้านที่อาจจะต้องทำการติดตั้งเพิ่มหรือ ตกแต่งเพิ่มเป็นต้น การติดตั้งท่อแบบนี้บางคนก็คิดว่าจะทำให้บ้านดูรกหรือดูไม่สวย แต่บางคนก็สามารถออกให้ระบบท่อดูดีได้เช่นกัน บางครั้งท่อลอยตัวก็จะมีเสียงน้ำวิ่งออกมารบกวนด้วย
ถ้าเราเลือกที่จะเดินระบบประปาแบบฝังผนัง เราติดตั้งระบบท่อไว้ก่อนที่จะฝังผนังและฉาบปูนทับ ข้อดีก็คือบ้านจะดูสะอาดขึ้นเยอะ แต่ก็จะทำให้การซ่อมบำรุงยากขึ้นเช่นกัน
เวลาเราเลือกช่างประมามาซ่อมระบบภายหลัง เราก็ต้องหาคนที่สามารถปิดผนังให้ดูสวยได้ด้วย
ปัญหาทั่วไปเวลาเดินระบบประปาในบ้าน
ปัญหาทั่วไปที่ผู้ใช้เจอกันก็คือ น้ำรั่ว หรือไม่ก็น้ำไม่ไหล ซึ่งส่วนมากปัญหาก็มาการเดินระบบไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น
แรงดันไม่มากพอ – น้ำที่การประปาจ่ายจะเป็นน้ำความดันต่ำ หากจะนำมาใช้ในบ้านหรือโครงการต้องมีการใช้ปั๊มน้ำและออกแบบการไหลของน้ำให้ดี
หากปั๊มมีแรงไม่มากพอ หรือเราจัดมุมท่อหรือขนาดลดของท่อไม่ดี ชั้นความดันท่อปลายก็อาจจะไม่พอก็ได้
มีการแย่งกันใช้น้ำ – หากระบบอยู่ในพื้นที่ที่มีการแย่งใช้น้ำเยอะเช่น ในหมู่บ้าน หรือครัวเรือนหนาแน่น
เวลาวันหยุดหรือช่วงที่มีคนใช้น้ำเยอะ อาจจะเกิดปัญหาน้ำไม่พอได้
วิธีแก้ก็คือการใช้ปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มแรงดัน หรือการสำรองน้ำไว้ใช้เวลาช่วงคนเยอะ
ผู้ผลิตส่วนมากแนะนำวิธีเลือกปั๊มน้ำไว้ดังนี้
บ้าน 1 ชั้น ใช้ปั๊ม 150 w
บ้าน 2 ชั้น ใช้ปั๊ม 250 w
บ้าน 3-4 ชั้น ใช้ปั๊ม 400 w
ข้อแนะนำก็คือให้เราออกแบบระบบจาก จุดจ่ายน้ำ จำนวนคนอาศัย และ ความสูงของอาคาร หากเรารู้ว่าเราต้องจ่ายน้ำเท่าไรถึงเหมาะสมสำหรับผู้ใช้ เราก็จะคำนวณได้ว่าขนาดปั๊ม (และขนาดความดันท่อประปา) ต้องเป็นเท่าไรกันแน่
สรุปการเดินระบบน้ำประปาในบ้าน
ระบบการประปาในบ้านขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างความสูงของอาคาร วิธีการติดตั้งระบบ ชนิดของท่อประปา และปั๊มน้ำ
หากเราติดตั้งแบบไม่รอบคอบเราจะมีปัญหาเรื่องระบบภายหลังแน่นอน
ในช่วงแรกของการติดตั้งระบบอาจจะยังดีอยู่ อาจจะเป็นเพราะมีผู้มาอยู่อาศัยไม่เยอะ หรือสินค้าอาจจะทนแรงดันน้ำที่เยอะเกินไปได้ในระยะสั้น
แต่ในระยะยาว ถ้าคุณออกแบบและติดตั้งไม่ดี ระบบจะมีปัญหาอย่างแน่นอนครับ
บริหารจัดการอาคาร: ระบบน้ำประปาในบ้าน ขึ้นอยู่กับชนิดอาคารและวิธีการติดตั้ง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/