หน้าฝนทีไรทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็มักจะเป็นไข้หวัด ไอจาม กันอยู่เสมอ แต่หนึ่งในโรคร้ายที่เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ก็คือ “โรคปอดติดเชื้อ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อป้องกันและทำให้เราห่างไกลจากความร้ายกาจของโรคปอดติดเชื้อนี้ให้มากขึ้น การทำความเข้าใจและทำความรู้จักโรคนี้ไว้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม
ปอดติดเชื้อคืออะไร และทำไมเชื้อถึงเข้าไปติดที่ปอดได้ ?
ปอดติดเชื้อคือการที่ “เชื้อโรค” เข้าสู่ร่างกายคนเราแล้วลงลึกไปจนถึงปอด แต่กว่าที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าไปถึงปอดซึ่งเป็นด่านสุดท้ายของทางเดินหายใจได้นั้น จำเป็นต้องผ่านหลายอวัยวะด้วยกัน ตั้งแต่ จมูก คอ หลอดลมเล็ก หลอดลมใหญ่ นั่นจึงหมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ “เชื้อโรค” ผ่านเข้ามาถึง “เนื้อปอด” ได้แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความรุนแรงและเป็นอันตรายมาก
โดยเชื้อโรคสามารถเข้าไปสู่ปอด เข้าสู่ร่างกายเราได้ด้วยสาเหตุหลักๆ 2 ทาง คือ จากการสูดลมหายใจ และจากทางเลือด ซึ่งก็คือติดเชื้อมาจากส่วนอื่นๆ แล้วกระจายมาสู่ปอดผ่านทางเลือดนั่นเอง แต่โดยส่วนมากแล้วจะเกิดจากการสูดเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจแล้วลงไปสู่ปอดมากกว่า
ปอดจะติดเชื้อได้ง่ายแค่ไหน มีปัจจัยใดบ้างเป็นตัวกำหนด ?
โดยปกตินั้นร่างกายของคนเราก็จะมีภูมิต้านทานในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคต่างๆ ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีเชื้อโรคบางชนิดที่สามารถเจาะเกราะป้องกันเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปอดของคนเรามีโอกาสติดเชื้อได้ โดยแบ่งได้ดังนี้
เชื้อโรคเป็นเชื้อร้ายที่มีความรุนแรงมาก ทำให้สามารถทะลุทะลวงไปถึงปอดได้สำเร็จ ทั้งนี้โรคปอดติดเชื้อ สามารถเกิดได้จากเชื้อโรคหลายประเภท อาทิ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย พยาธิ เชื้อรา เชื้อวัณโรค แต่ที่พบโดยมากคือเชื้อแบคทีเรียและไวรัส
ภูมิคุ้มกันร่างกายเราไม่ดี คือ เชื้ออาจไม่ได้ร้ายแรงแต่ร่างกายเราไม่แข็งแรง เลยทำให้เชื้อผ่านเข้าไปสู่ปอดได้ง่ายกว่าคนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอด โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือคนที่เคยมีประวัติปอดติดเชื้อมาก่อน เคยมีแผล ฝี หรือโพรงในปอดมาก่อน
รับประทานยาที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น กลุ่มคนไข้ที่ทานยากดภูมิ ทำให้ภูมิคุ้มกันโดยรวมไม่แข็งแรงพอจะต่อต้านเชื้อได้ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมี ได้รับการทำเคมีบำบัด จะมีโอกาสปอดติดเชื้อได้มากกว่า เพราะภูมิคุ้มกันถูกทำลายจากยาที่ได้รับ
ได้รับเชื้อในปริมาณมากเป็นประจำ แม้จะไม่ใช่เชื้อร้ายและเรามีคุ้มกันร่างกายที่ดี แต่หากเราไปอยู่ในสถานที่ที่มีเชื้อโรคอยู่ในปริมาณมาก และได้รับสัมผัสกับเชื้อปริมาณมาก หรือเป็นประจำ โดยเฉพาะในที่ที่มีคนเป็นพาหะมีเชื้ออยู่ ก็สามารถทำให้เราได้รับเชื้อ และเกิดเป็นปอดติดเชื้อได้
ทำไม ปอดติดเชื้อจึงพบได้มากในฤดูฝน ?
เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เชื้อโรคจะเดินทางได้ก็ต่อเมื่อมี “พาหะ” เป็นตัวนำ เพราะเชื้อโรคไม่สามารถกระโดดหรือเดินทางจากที่หนึ่งมาสู่ร่างกายเราโดยตรงได้ ซึ่ง “พาหะ” ที่เป็นตัวนำพาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ดีนั้น ก็คือ ละอองน้ำ ละอองฝน และละอองฝุ่นในอากาศนั่นเอง โดยเชื้อโรคจะเกาะติดกับละอองเหล่านี้ แล้วลอยอยู่ตามอากาศ จนเราสูดเอาละอองที่มีเชื้อโรคเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายและลุกลามไปสู่ปอด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในหน้าฝน ผู้คนถึงเป็นโรคปอดติดเชื้อกันมาก ก็เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเป็นปริมาณมากนั่นเอง
สังเกตอาการอย่างไร ถึงน่าสงสัยว่าอาจใช่ปอดติดเชื้อ ?
อาการที่เป็นสัญญาณบอกเราว่าอาจเป็น “โรคปอดติดเชื้อ” สามารถสังเกตได้ ดังนี้
มีไข้สูง หนาวสั่น
มีอาการไอ หอบเหนื่อย
เจ็บชายโครง เวลาหายใจเข้า-ออก
ทั้งนี้ หากพิจารณาผิวเผินอาจมองว่าอาการของปอดติดเชื้อ คล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงจะมีจุดสังเกตที่แตกต่างกันคือ โรคปอดติดเชื้อ จะไม่มีอาการการเจ็บคอ ไม่มีน้ำมูกไหล แต่ไข้หวัดทั่วไปจะมี 2 อาการนี้ร่วมด้วย นอกจากนั้น หากปอดติดเชื้อในขั้นรุนแรงสามารถสังเกตได้จากการหายใจเข้าออก จะรู้สึกเจ็บเสียดบริเวณหน้าอกหรือชายโครง เพราะติดเชื้อรุนแรงจนมีน้ำขังในบริเวณเยื่อหุ้มปอด ซึ่งหากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน ควรรีบพบแพทย์ทันที
วินิจฉัยอย่างไร ถึงแน่ใจว่าเป็นโรคปอดติดเชื้อ ?
เมื่อพบอาการผิดสังเกตแล้วมาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการ หลังจากนั้นก็จะฟังปอด โดยหากปอดเปรอะ หรือติดเชื้อ เสียงของปอดจะดังขวักแขวกขรุขระ เพราะมีน้ำมีหนองอยู่ข้างใน แต่หากปอดปกติ ก็จะเป็นเสียงราบรื่น ไม่มีอะไรขวางเหมือนเสียงผิวปากที่ลมพัดผ่านอย่างสงบ ซึ่งหลังการฟังแพทย์ก็จะสามารถตั้งข้อสังเกตได้ทันทีว่าผิดปกติหรือไม่ และหลังจากนั้นจะส่งคนไข้ไปทำการเอกซเรย์ต่อไป เพื่อดูว่ามีปื้น มีจุด หรือรอยเบาะแสของโรคอื่นๆหรือไม่ และเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็จะพิจารณาหาทางรักษาตามเหมาะสมต่อไป
รักษาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคปอดติดเชื้อ ?
แนวทางในการรักษาโรคปอดติดเชื้อจะใช้ “การให้ยาฆ่าเชื้อ” เป็นหลัก โดยกฎเหล็กของการรักษาโรคปอดติดเชื้อ ก็คือ ยิ่งคนไข้ได้รับยาฆ่าเชื้อเร็วแค่ไหน อัตรารอดชีวิต อัตราการหายเป็นปกติก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น โดยเฉพาะปอดติดเชื้อจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หากได้รับยาฆ่าเชื้อภายในครึ่งชั่วโมง ก็จะทำให้มีอัตราการรอดชีวิตที่สูงมาก แต่กลับกันถ้าหากได้รับยาฆ่าเชื้อช้าโดยเลยครึ่งชั่วโมงไปแล้ว ก็จะทำให้อัตรารอดชีวิตนั้นลดน้อยลง
ดังนั้นในการรักษาโรคปอดติดเชื้อ จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติให้ดี อย่าชะล่าใจซื้อยามาทานเองเพราะคิดว่าแค่เป็นหวัด แต่ควรรีบมาพบแพทย์ มาตรวจพบให้ไว รู้ให้เร็ว และให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาให้ทัน เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หรือไม่ เมื่อเป็นโรคปอดติดเชื้อ ?
โดยปกติแล้วการให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาโรคปอดติดเชื้อจะเห็นผลภายใน 72 ชั่วโมง ว่าทิศทางของอาการจะเป็นอย่างไรหลังจากให้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งถ้าหากภายใน 72 ชั่วโมงแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการเอกซเรย์ซ้ำ เพื่อดูว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ก็คือ การเกิดฝีหรือหนองที่ปอด ซึ่งหากพบลักษณะนี้ อาจต้องพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม หรืออาจเกิดภาวะมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด หรือเชื้ออาจกระจายลุกลามออกจากปอดไปสู่กระแสเลือดและวิ่งเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายมาก
ทั้งนี้ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นฝีขึ้นที่ปอด แพทย์จะทำการปรับยาในการรักษาให้แรงขึ้น แต่หากอาการยังไม่ทุเลา ก็จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อเจาะเอาหนองออก ส่วนในกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด แพทย์จะพิจารณาว่าเป็นน้ำลักษณะไหน ใสหรือขุ่น หรือเป็นหนอง และหากมีปริมาณน้ำมาก ก็ต้องเจาะเพื่อระบายน้ำออก
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการรักษาโรคปอดติดเชื้อนั้น โดยทั่วไปแพทย์จะทำการเก็บเสมหะของคนไข้ไปเพาะเชื้อ เพื่อตรวจหาว่าเป็นเชื้อชนิดใด และปรับยารักษาอาการให้เหมาะกับเชื้อนั้นๆ ดังนั้นหากตรวจพบไวก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไม่ต้องวิตกกังวลใจมากนัก
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโรคปอดติดเชื้อ ?
แนวทางในการป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคปอดติดเชื้อนั้น สามารถทำได้โดยใช้หลักการเดียวกันกับการป้องกันโรคในระบบทางเดินหายใจโรคอื่นๆ คือ
หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเอาไว้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรารู้ตัวเองดีว่ากำลังป่วยอยู่ หรือมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าใครจะมาแพร่เชื้อสู่เราเมื่อไร และไม่อาจทราบได้เลยว่าผู้คนที่เดินผ่านไปมานั้น มีใครป่วยหรือเป็นพาหะนำเชื้อหรือไม่ การป้องกันเอาไว้ก่อนจึงดีที่สุด
หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะในแต่ละวันเราใช้มือสัมผัสสิ่งของหลากหลาย จึงอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่บนมือของเรา ซึ่งหากนำไปหยิบอาหารรับประทาน หรือนำมาขยี้ตา สูดดม ก็อาจทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ปอด เข้าสู่ร่างกายได้
เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน อาทิ การรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคปอดติดเชื้อได้ เพราะถ้าเราไม่ป่วยเป็นไข้หวัด ภูมิคุ้มกันเราก็จะยังดีอยู่ ร่างกายจะยังแข็งแรง ทำให้โอกาสปอดติดเชื้อนั้นลดน้อยลงไปด้วย
ดูแลร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นพื้นฐานการทำให้เรามีสุขภาพที่ดี มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดี ซึ่งก็จะทำให้โอกาสปอดติดเชื้อลดน้อยลง
โรคปอดติดเชื้อนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่มีความร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ และผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคปอดติดเชื้อได้มากกว่าคนปกติทั่วไปหลายเท่า ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าฝน หากมีไข้สูง หนาวสั่น และไอ แต่ไม่เจ็บคอ ไม่มีน้ำมูกไหล หายใจแล้วเจ็บเสียด ไม่ควรมองข้าม ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ยิ่งหากเป็นโรคปอดติดเชื้อจริง ก็จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตไปได้มาก หากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว
วินิจฉัยอย่างไร ถึงแน่ใจว่าเป็นโรคปอดติดเชื้อ ? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/151