การดูแลผู้ป่วยโรคปอด ติดเชื้ออย่างถูกต้องและเหมาะสมเรียกได้ว่าเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ โรคภัยต่าง ๆ ก็เตรียมพร้อมเข้ามารุมเร้า เป็นเพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันก็จะต่ำลงตามธรรมชาติ และหนึ่งในอาการป่วยที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับผู้สูงวัย คือ ปอดติดเชื้อ (pneumonia) หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อว่าอาการ “ปอดบวม” นั่นเอง อย่างที่ทราบกันดีว่าปอด คือ หนึ่งในอวัยวะสำคัญสำหรับระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต ดังนั้นหากเกิดการติดเชื้อบริเวณปอดอย่างรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังในผู้สูงอายุแล้ว ปอดติดเชื้อยังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เพราะภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่และเป็นอันดับต้นของสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ บ้านที่มีเด็กเล็ก หรือใครก็ตามแต่ ควรที่จะทำความรู้จักกับปอดติดเชื้อให้ดี และเรียนรู้วิธีรับมือรวมถึงการดูแลผู้ป่วยปอดติดเชื้อไว้ด้วย
ดังนั้นวันนี้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่ง โฮม จึงได้นำความรู้เหล่านี้มาฝากกันเพื่อให้ทุกท่านรับมือกับการสังเกตอาการและดูแลผู้ป่วยปอดติดเชื้อได้อย่างทันท่วงที
อาการของปอดติดเชื้อ
โดยทั่วไปแล้วอาการของโรคปอดติดเชื้อมีระยะฟักตัวสั้น ๆ ตั้งแต่ 1-3 วัน ไปจนถึง 1-4 สัปดาห์และหากดูเผิน ๆ แล้วแทบจะแยกไม่ออกว่ากับอาการของไข้หวัด เพราะมีอาการดังนี้
มีไข้และมีอาการหนาวสั่น
ไอและรู้สึกหอบ
อ่อนเพลีย
มีเสมหะ หรือมีอาการคลื่นไส้เป็นบางครั้ง
หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก
แต่ข้อสังเกต คือ อาการปอดติดเชื้อจะไม่มีอาการเจ็บคอและอาการน้ำมูกไหล นอกจากนี้มักจะไอมากเมื่อสังเกตหายใจเข้าออกจะพบความผิดปกติ ส่วนอาการเจ็บเสียดบริเวณหน้าอกหรือชายโครง พบได้ในกรณีหากมีน้ำขังในบริเวณเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วย
สาเหตุของการเกิดปอดติดเชื้อ
สาเหตุของปอดติดเชื้อสามารถเกิดมาได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัส หรือการติดเชื้อจากอย่างอื่น เช่น เชื้อรา หรือพยาธิ ฯลฯ แต่สาเหตุโดยส่วนใหญ่มักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Streptococcus Pneumoniae ซึ่งมีกว่า 90 สายพันธุ์ นอกจากนี้เชื้อนี้ยังสามารถก่อให้เกิดโรคที่สำคัญคือ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง และการติดเชื้อในกระแสเลือด ได้อีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายจะมีกลไกและภูมิต้านทานที่คอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่อวัยวะที่สำคัญอย่างปอด แต่อาจเกิดได้หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่
เชื้อโรคที่ติดมีความรุนแรงสูง อย่างเช่นเชื้อ Streptococcus Pneumoniae
ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องทั้งจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นก็ดี หรือจากอาการป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือคนที่เคยมี ฝี หรือโพรงในปอดมาก่อนทำให้สมรรถภาพในปอดเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
ผู้ป่วยมีการรับประทานยาที่ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกัน เช่น กลุ่มคนไข้ที่ทานยากดภูมิ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการทำเคมีบำบัด
ต้องสัมผัสกับเชื้อเป็นประจำ และรับเชื้อในปริมาณมากทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ทัน
และบ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินว่าในช่วงฤดูฝนต้องระวังตัวให้ดีเพราะอาจเป็น ‘ปอดบวม’ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คืออาการปอดติดเชื้อนั่นเอง และการที่มักจะเกิดปอดติดเชื้อในฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตกชุก ก็เป็นเพราะว่าเชื้อโรคจะไปเกาะติดอยู่กับละอองน้ำ ละอองฝน หรือแม้แต่ละอองฝุ่นในอากาศที่เราสูดหายใจเข้าไป และทำหน้าที่เป็น ‘พาหะ’ นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเรานั่นเอง
การรักษาและการดูแลผู้ป่วยปอดติดเชื้อ
สำหรับการรักษาและการดูแลผู้ป่วยปอดติดเชื้อแล้วจะแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรค หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย จะสามารถรักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อทั้งแบบรับประทานและการฉีดยา ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ส่วนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสมักมีความรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาจึงพิจารณาตามอาการ โดยผู้ป่วยดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และพักผ่อนอย่างพอเหมาะ ในส่วนของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวแพทย์จะแนะนำว่าให้รักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา
โรคแทรกซ้อนจากปอดติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังจากปอดติดเชื้อ ก็คือการเกิดฝีหรือหนองที่ปอด ซึ่งหากพบลักษณะนี้อาจต้องพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม หรืออาจเกิดภาวะมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด หรือเชื้ออาจกระจายลุกลามออกจากปอดไปสู่กระแสเลือด ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายจนถึงขึ้นเสียชีวิต โดยหากเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นฝีขึ้นที่ปอด วิธีรักษาโรคปอดติดเชื้อในกลุ่มนี้แพทย์จะทำการปรับยาฆ่าเชื้อในการรักษาให้ครอบคลุมและตรงกับเชื้อมากขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขี้น ก็จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาหนองออก ส่วนในกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด แพทย์จะนำน้ำในเยื่อหุ้มปอดไปทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และหากมีปริมาณน้ำมาก จะทำการระบายน้ำออก
ป้องกันให้ดีก่อนป่วยเป็นปอดติดเชื้อ
อย่างที่ทราบกันดีว่าผลลัพธ์ที่ร้ายแรงที่สุดของปอดติดเชื้อ อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุหรือคนที่คุณรัก ดังนั้นให้รีบทำการป้องกันไว้ก่อนที่จะสายไปดีกว่า โดยมีวิธีการดังนี้
รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง
หลีกเลี่ยงที่ที่มีคนพลุกพล่าน เพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าในกลุ่มคนเหล่านั้นมีผู้ป่วยปอดติดเชื้อหรือผู้ที่เป็นพาหะปะปนอยู่หรือไม่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานของร่างกายที่อ่อนแอกว่าคนทั่วไป
สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ โดนวัคซีนที่นิยมฉีดจะเป็นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้โดยตรง