หมอประจำบ้าน: ปอดอักเสบ/ปอดบวม (Pneumonia) ปอดอักเสบ (ปอดบวม นิวโมเนีย ก็เรียก) หมายถึง การอักเสบของเนื้อปอด (ซึ่งประกอบด้วย ถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ) ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลง เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
โรคนี้เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย จึงมีอาการแสดงและความรุนแรงในลักษณะต่าง ๆ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปและคนทุกวัย มีโอกาสพบมากขึ้นในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (เช่น หลอดลมพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหืดเรื้อรัง) หรือหัวใจวายเรื้อรัง ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย เด็กขาดอาหาร ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์ประจำ ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ตับแข็ง ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เป็นต้น
อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส โรคมือ-เท้า-ปาก ไอกรน ทอนซิลอักเสบ หลอดอักเสบ ครู้ป หลอดลมพอง หลอดลมฝอยอักเสบ และโรคติดเชื้อของระบบอื่น (เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น)
ผู้ป่วยที่ฉีดยาด้วยเข็มที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ (เช่น ฉีดยาเสพติด) ก็มีโอกาสติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสกลายเป็นโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงได้
บางครั้งอาจพบในผู้ที่สำลักสารเคมี (ที่สำคัญคือ น้ำมัน เช่น น้ำมันก๊าด เบนซิน) น้ำย่อยในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน น้ำและสิ่งปนเปื้อน (ในผู้ป่วยจมน้ำ) หรือเศษอาหาร (ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต ลมชัก หมดสติ ดื่มแอลกอฮอล์จัด) ทำให้ปอดอักเสบ จากการระคายเคืองของสารเคมี หรือการติดเชื้อ เรียกว่าปอดอักเสบจากการสำลัก (aspiration pneumonia)
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ส่วนน้อยเกิดจากสารเคมี การติดเชื้อที่สำคัญ มีดังนี้
การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยสุดในคนทุกวัยได้แก่ เชื้อปอดบวม ที่มีชื่อว่า นิวโมค็อกคัส (pneumococcus) หรือ สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) มักทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรง
นอกจากนี้อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ เช่น อีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ (Hemophilus influenzae) ซึ่งเป็นสาเหตุของปอดอักเสบในทารกและผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งทำให้เกิดปอดอักเสบชนิดร้ายแรง พบบ่อยในผู้ที่ฉีดยาเสพติดด้วยเข็มที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ และอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ เชื้อเคล็บซิลลา (Klebsiella pneumoniae) ซึ่งทำให้เป็นปอดอักเสบชนิดร้ายแรงในผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน (anaerobes) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปอดอักเสบจากการสำลัก เชื้อลีจันเนลลา (Legionella) ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปตามระบบปรับอากาศ (เช่น ห้องพักในโรงแรม หรือโรงพยาบาล) เชื้อเมลิออยโดซิส ซึ่งพบมากทางภาคอีสาน เชื้อคลามีเดีย (Chlamydia pneumoniae) ซึ่งพบบ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว เป็นต้น
การติดเชื้อไมโคพลาสมานิวโมเนีย (Mycoplasma pneumoniae) ซึ่งเป็นเชื้อคล้ายแบคทีเรียแต่ไม่มีผนังเชลล์ จัดว่าอยู่ก้ำกึ่งระหว่างไวรัสกับแบคทีเรีย มักทำให้เกิดปอดอักเสบที่มีอาการไม่ชัดเจน (มีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อย คล้ายไข้หวัดใหญ่หรือหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการหอบรุนแรง การตรวจฟังปอดในระยะแรกมักไม่พบเสียงผิดปกติ)* มักพบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ถ้าพบในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ อาจมีอาการรุนแรงบางครั้งพบมีการระบาด
การติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) อีสุกอีใส-งูสวัด (varicella-zoster/virus) ไวรัสอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) ไวรัสค็อกแซกกี (coxsackie virus) ไวรัสเริม (herpes simplex virus/HSV) ไวรัสโคโรนาสัมพันธ์กับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงชนิดที่ 2 (SARS-CoV-2 เรียกสั้น ๆ ว่า "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019" หรือ "ไวรัสโควิด-19") เป็นต้น
การติดเชื้อรา ที่สำคัญได้แก่ นิวโมซิสติสคาริไน (Pneumocystis carinii)** ที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบในผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อราอื่น ๆ เช่น Histoplasma capsulatum‚ Blastomyces dermatitidis‚ Coccidioides immites‚ Cryptococcus‚ Aspergillus เป็นต้น
การติดต่อ เชื้อโรคและสารก่อโรคสามารถเข้าสู่ปอดโดยทางใดทางหนึ่ง ดังนี้
ก. ทางเดินหายใจ โดยการสูดเอาเชื้อโรคที่แพร่กระจายมาทางอากาศ (ถูกไอ จามใส่) หรือเชื้อที่อยู่เป็นปกติวิสัย (normal flora) ในช่องปากและคอหอย (เช่น สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซกลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน) ลงไปในปอด
ข. การสำลัก เอาสารเคมี (น้ำมัน) น้ำย่อย น้ำ (จมน้ำ) หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด การอักเสบนอกจากเกิดจากสารระคายเคืองแล้ว ยังอาจเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในช่องปากและคอหอยที่ถูกสำลักลงไปในปอด
ค. การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ได้แก่ การฉีดยาหรือให้น้ำเกลือที่มีการแปดเปื้อนเชื้อ การติด เชื้อในอวัยวะส่วนอื่น เช่น สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส ภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น
* เดิมนิยมเรียกว่า ปอดอักเสบนอกแบบ (atypical pneumonia) เนื่องจากอาการไม่เหมือนปอดอักเสบจากนิวโมค็อกคัส (ที่จัดเป็น typical pneumonia) นอกจากไมโคพลาสมาแล้ว ปอดอักเสบนอกแบบยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อchlamydia, เชื้อlegionella
ปัจจุบันพบว่า เชื้อโรคทุกชนิดสามารถทำให้เกิดปอดอักเสบที่มีอาการทั้งที่รุนแรง (typical) และไม่รุนแรง (atypical) ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะและความรุนแรงของการติดเชื้อ
** ปัจจุบันเรียกชื่อใหม่ว่า นิวโมซิสติสจิโรเวซิ (Pneumocystis jiroveci) และจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อรา ไม่ใช่โปรโตซัวที่เคยเข้าใจแต่เดิม
อาการ
มักมีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย เป็นสำคัญ
ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย หรือฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ) มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือไข้หวัดนำมาก่อน
บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเดิน เบื่ออาหารอาเจียน ร่วมด้วย
อาการไข้มักเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีลักษณะไอเป็นพัก ๆ หรือไข้ตลอดเวลา บางรายก่อนมีไข้ขึ้น อาจมีอาการหนาวสั่นมาก (ซึ่งมักจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงแรก ๆ)
อาการไอ ในระยะแรกมีลักษณะไอแห้ง ๆ ต่อมาจะมีเสมหะขาวหรือขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียว บางรายอาจมีสีสนิมเหล็กหรือเลือดปน
บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก แบบเจ็บแปลบเวลาหายใจเข้าหรือเวลาไอแรง ๆ ตรงบริเวณที่มีการอักเสบของปอด บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่สีข้าง หรือท้อง
ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากอาจมีอาการปากเขียว ตัวเขียว ในรายที่เป็นไม่มากอาจไม่มีอาการหอบเหนื่อยชัดเจน
ในผู้สูงอายุ อาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้
ในทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ท้องเดิน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม ร่วมด้วยบางรายอาจมีอาการชักจากไข้
ในรายที่เป็นปอดอักเสบจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้ออื่น ๆ ก็มักมีอาการของโรคติดเชื้ออื่น ๆ (เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส ไอกรน สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น) นำมาก่อน
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นฝีในปอด (lung abscess) ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ (atelectasis) หลอดลมพอง
เชื้ออาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือด กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) เยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis) เยื่อหุ้มช่องท้องอักเสบ ข้ออักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน เป็นต้น
ที่ร้ายแรง ได้แก่ กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome) ภาวะการหายใจล้มเหลว (respiratory failure) และภาวะช็อกจากโรคติดเชื้อ (septic shock) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
มักตรวจพบไข้ (39-40 องศาเซลเซียส) บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้
ในรายที่เป็นมาก จะมีอาการหายใจเร็วมากกว่า 30-40 ครั้ง/นาที (เด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี มากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปี มากกว่า 40 ครั้ง/นาที) ซี่โครงบุ๋ม รูจมูกบาน อาจมีอาการตัวเขียว (ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว) และภาวะขาดน้ำ
การใช้เครื่องฟังตรวจปอดมักมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ซึ่งมักได้ยินตรงบริเวณใต้สะบัก (ปอดส่วนล่าง) ข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง บางรายอาจได้ยินเสียงอึ๊ด (rhonchi) หรือเสียงวี้ด (wheezing) เฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
บางรายอาจพบอาการเคาะทึบ (dullness) และใช้เครื่องฟังตรวจได้ยินเสียงหายใจค่อย (diminished breath sound) ที่ปอดข้างใดข้างหนึ่ง
บางรายอาจพบอาการของโรคติดเชื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เริมที่ริมฝีปาก ผื่นของหัด อีสุกอีใส หรือโรคมือ-เท้า-ปาก เป็นต้น
ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อไมโคพลาสมาหรือคลามีเดีย อาจมีผื่นตามผิวหนังร่วมด้วย ส่วนการตรวจฟังปอดในระยะแรกอาจไม่พบเสียงผิดปกติก็ได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ (โดยการย้อมเสมหะ เพาะเชื้อจากเสมหะ เพาะเชื้อจากเลือด) ตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์และออกซิเจนในเลือด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าพบในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่ก่อน และมีอาการในระยะแรกเริ่ม (หายใจเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ไม่มีอาการซี่โครงบุ๋ม หรือตัวเขียว) ให้การรักษาเบื้องต้นด้วยยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น) และให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ควรติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด
ถ้าอาการดีขึ้นใน 3 วัน ควรให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน 10-14 วัน ถ้าไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหอบมากขึ้น ควรส่งโรงพยาบาล
2. ถ้าพบในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางปอดหรือโรคหัวใจอยู่ก่อน ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม ตัวเขียว สับสน หรือซึม แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลให้การรักษาตามอาการ และรักษาแบบประคับประคอง (เช่น ให้ออกซิเจน น้ำเกลือ ยาลดไข้) และเลือกให้ยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อรา) ตามชนิดของเชื้อที่พบ
ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของเชื้อและความรุนแรงของโรค ในรายที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา
แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการรุนแรง หรือติดเชื้อชนิดร้ายแรง (เช่น สแตฟีโลค็อกคัส เคล็บซิลลา) หรือพบในทารก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อน และมีอัตราตายค่อนข้างสูง
การดูแลตนเอง
หากมีอาการไข้ หายใจหอบ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีหายใจเร็วกว่าปกติ (เด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที) ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
เมื่อตรวจพบว่าเป็นปอดอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
1. ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
2. อย่าฉีดยาด้วยเข็มและกระบอกฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ
3. อย่าอมน้ำมันเล่น ควรเก็บน้ำมันให้ห่างมือเด็ก
4. ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน หัด อีสุกอีใส แก่เด็กทุกคน ในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย หรือนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine)
5. เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เป็นต้น ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ
6. ป้องกันมิให้เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง (หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง) โดยการไม่สูบบุหรี่
ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ และหอบ มักมีสาเหตุจากปอดอักเสบ แต่ก็อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ได้
2. ผู้ที่เป็นปอดอักเสบจากเชื้อไมโคพลาสมานิวโมเนีย ซึ่งพบบ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มักมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะ มักจะไอรุนแรง แต่ไม่มีอาการหายใจหอบรุนแรง (ส่วนน้อยที่มีอาการหายใจหอบรุนแรง) ทำให้ดูคล้ายอาการของไข้หวัดใหญ่ และหลอดลมอักเสบ อาการจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป มักจะเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ มักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี บางคนอาจหายได้เองโดยไม่ได้รับการรักษา แต่หลังจากหายจากไข้แล้ว อาจมีอาการไอและอ่อนเพลียต่อไปอีกหลายสัปดาห์ถึง 3 เดือน
3. โรคนี้แม้ว่าจะมีอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะหายขาดได้ ดังนั้น หากสงสัยผู้ป่วยเป็นโรคนี้ควรรีบให้ยาปฏิชีวนะ ติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการหอบรุนแรง พบในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือไม่มั่นใจควรส่งไปโรงพยาบาลทันที
4. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว