ตรวจสุขภาพ: โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential tremor)

  • 0 ตอบ
  • 616 อ่าน
ตรวจสุขภาพ: โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential tremor)

โรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง โดยแพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดของกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดอาการสั่นของร่างกาย



พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั่วไป พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปี และจะพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น พบว่าประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นโรคนี้ และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

สาเหตุ

ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเกิดโรคนี้โดยไม่ทราบสาเหตุ

และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย พบว่าเกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติซึ่งถ่ายทอดมาจากพ่อหรือแม่ กล่าวคือ บุตรที่รับพันธุกรรมที่ผิดปกติมาจากพ่อหรือแม่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะป่วยเป็นโรคนี้

อาการ

มีอาการสั่นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจและควบคุมไม่ได้ มักเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้าง (อาจเห็นชัดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง) มีอาการสั่นมากเวลาเคลื่อนไหว และทุเลาเวลาหยุดเคลื่อนไหวหรืออยู่นิ่ง ๆ

อาการที่พบบ่อย และสังเกตเห็นตั้งแต่เริ่มแรก ได้แก่ อาการมือสั่นขณะใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น หยิบจับสิ่งของ เขียนหนังสือ ใช้ช้อนตักอาหาร ยกแก้วน้ำดื่ม เป็นต้น ส่วนใหญ่มักมีอาการมือสั่นทั้ง 2 ข้าง อาการทุเลาเมื่อมืออยู่เฉย ๆ

ผู้ป่วยอาจมีอาการสั่นของศีรษะ (แบบผงกศีรษะตอบว่า “ใช่” หรือแบบส่ายศีรษะตอบว่า "ไม่”)  หรือเสียงสั่นขณะพูดร่วมด้วย นอกจากนี้อาจพบอาการสั่นที่บริเวณคอ แขน ส่วนอาการสั่นที่บริเวณขาและเท้าพบได้น้อย

อาการสั่นมักเป็นมากเวลาเครียด ตื่นเต้น ตกใจ ร่างกายเหนื่อยล้า หรือดื่มกาแฟ หรือใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาสเตียรอยด์ ยาต้านซึมเศร้า ยากันชักบางชนิด)

บางรายพบว่าอาการสั่นจะทุเลาลงเวลาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เช่น ไวน์) ในปริมาณเล็กน้อย

อาการสั่นมักเป็นเรื้อรัง ซึ่งในระยะเริ่มแรกมักเป็นเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 20-30 ปี และค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ภาวะแทรกซ้อน

โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เพียงแต่อาจทำให้เสียบุคลิกภาพและรู้สึกขาดความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการเข้าสังคม

ในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุมาก ก็อาจทำให้ไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น มือที่สั่นทำให้น้ำหกเวลาถือแก้วน้ำ ตักอาหารและกินอาหารได้ไม่สะดวก เขียนตัวหนังสือที่ผิดเพี้ยน อ่านยาก หรือมีปัญหาในการแต่งหน้าหรือโกนหนวด เสียงพูดที่สั่นเครือทำให้มีปัญหาในการพูดสื่อสารกับผู้อื่น เป็นต้น

ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจทำกิจวัตรต่าง ๆ เองไม่ได้ และต้องอาศัยการช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้เป็นส่วนน้อย

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจระบบประสาท) เป็นหลัก ซึ่งมักตรวจพบอาการมือสั่นขณะใช้งาน อาการสั่นศีรษะแบบไม่ตั้งใจ เสียงสั่น

ในรายที่วินิจฉัยไม่ได้แน่ชัด หรือสงสัยเกิดจากโรคอื่น ก็จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดเพื่อตรวจหาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, ตรวจหาสารโลหะหนักที่เป็นพิษต่อระบบประสาท เช่น สารหนู ตะกั่ว แมงกานีส) ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถ้าสงสัยมีความผิดปกติของสมอง เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

1. ถ้ามีอาการสั่นเพียงเล็กน้อย แพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบรุนแรง และนัดผู้ป่วยมาตรวจดูอาการเป็นระยะ

2. ในรายที่มีอาการสั่นมาก ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ก็จะให้ยาควบคุมอาการสั่น ได้แก่ โพรพราโนลอล (propranolol ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาปิดกั้นบีตา สำหรับใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง และควบคุมการเต้นของหัวใจ) ยานี้อาจมีผลข้างเคียงได้หลายอย่าง (เช่น ซึมเศร้า ชีพจรเต้นช้า เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ความรู้สึกทางเพศลดลง ไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น)

ผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ทำให้อาการหอบหืดกำเริบ ภาวะหัวใจวายกำเริบ บดบังอาการเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยที่ใช้ยาเบาหวาน เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้โพรพราโนลอลในผู้ป่วยโรคหืด ภาวะหัวใจวาย เบาหวาน

หากมีข้อห้ามในการใช้โพรพราโนลอล หรือใช้ยานี้ไม่ได้ผล ก็จะให้กลุ่มยากันชัก เช่น ไพรมิโดน (primidone), กาบาเพนทิน (gabapentin) โทพิราเมต (topiramate) ยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียง (ทำให้ง่วงนอน คลื่นไส้) ในช่วงแรก ๆ แล้วจะค่อย ๆ ทุเลาไปในเวลาต่อมา

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสั่นกำเริบมากเวลามีความเครียด หรือวิตกกังวล แพทย์จะให้ยากล่อมประสาท เช่น โคลนาซีแพม (clonazepam) ยานี้อาจมีผลข้างเคียง (ทำให้ง่วงนอน อ่อนเพลีย) และเสพติดได้หากใช้ติดต่อกันนาน ๆ

บางกรณี แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดโบท็อกซ์หรือสารโบทูลินัม (Botox หรือ botulinum toxin) ซึ่งเหมาะสำหรับรักษาอาการศีรษะสั่นหรือเสียงสั่นรุนแรง การฉีดโบท็อกซ์อาจมีผลข้างเคียง คือ กรณีที่ฉีดรักษาอาการเสียงสั่น ทำให้เสียงแหบ กลืนลำบาก หากฉีดรักษาอาการมือสั่น ก็ทำให้มืออ่อนแรงได้

3. การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การทำกายภาพบำบัด หรือกิจกรรมบำบัด (เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ควบคุมอาการสั่น ช่วยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น) การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง (deep brain stimulation) สำหรับในรายที่เป็นรุนแรงและรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

ผลการรักษา การรักษาเพียงแต่ช่วยลดอาการสั่น เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้โรคหายขาด ผู้ป่วยจะมีโรคนี้ติดตัวตลอดไป โดยไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการมือสั่น ศีรษะสั่น เสียงสั่น เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

ดูแลรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
    หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบรุนแรง ได้แก่ การป้องกันและจัดการความเครียด (เช่น การออกกำลังกาย การฝึกสมาธิ เจริญสติ) การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายอ่อนล้า การไม่ดื่มกาแฟ

ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือมีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การป้องกัน

โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันได้ แต่อาจควบคุมให้อาการลดลงได้ โดยการควบคุมปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการกำเริบรุนแรง

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการมือสั่น อาจเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย (ตรวจอาการมือสั่นเพิ่มเติม) ซึ่งมีความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน และการรักษาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรแยกระหว่างโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุกับโรคพาร์กินสัน ซึ่งสามารถสังเกตจากอาการมือสั่นที่มีลักษณะแตกต่างกัน กล่าวคือ โรคพาร์กินสันจะมีอาการมือสั่นเวลาอยู่เฉย ๆ ทุเลาหรือหายสั่นเวลาเคลื่อนไหวมือ และมักเป็นที่มือเพียงข้างเดียว ส่วนโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุมีลักษณะตรงกันข้าม คือมีอาการมือสั่นเวลาเคลื่อนไหวหรือยกมือขึ้น ทุเลาหรือหายสั่นเวลาอยู่เฉย ๆ

และมักเป็นที่มือทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการแขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวช้า เดินลำบาก ส่วนผู้ป่วยโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุจะไม่พบอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะเขียนตัวหนังสือเล็กลง ส่วนผู้ป่วยโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุจะเขียนตัวหนังสือที่ใหญ่ขึ้นและสั่น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการสั่น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจนและให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม

2. ผู้ป่วยโรคนี้บางรายอาการทุเลาลงเวลาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อย แต่ไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาโรคนี้ เพราะจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้านตามมาได้

 

โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี google ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google