ยาโรคเบาหวาน กินอย่างไรให้ถูกต้อง?โรคเบาหวานเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอ หรืออินซูลินทำหน้าที่บกพร่องจึงไม่สามารถเอาน้ำตาลที่ได้จากอาหารไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ผลของน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานเป็นเหตุให้อวัยวะต่างๆ เสียหน้าที่ และเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น โดยเฉพาะที่ตา ไต ประสาทส่วนปลาย หัวใจ และหลอดเลือด
โรคเบาหวานแบ่งตามสาเหตุการเกิดได้ 4 ชนิด ดังนี้
1.เบาหวานชนิดที่ 1
เกิดจากขาดอินซูลิน ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน มักเกิดในคนอายุน้อยและผอม พบได้ไม่มากประมาณ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์
2.เบาหวานชนิดที่ 2
เกิดจากการขาดอินซูลินบางส่วนหรืออินซุลินทำหน้าที่บกพร่อง (ดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลิน) มักเกิดในผู้ใหญ่และผู้ที่มีน้ำหนักเกิน แต่ปัจจุบันพบได้มากขึ้นในเด็กที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งอาจเริ่มรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และยาลดระดับน้ำตาล
3.เบาหวานชนิดอื่นๆ
เช่น เกิดจากการใช้ยาบางชนิด ตับอ่อนอักเสบ ติดเชื้อไวรัสบางชนิด
4.เบาหวานขณะตั้งครรภ์
เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์และจะหายไปเองเมื่อสิ้นสุดการตั้งครรภ์ เกิดจากฮอร์โมนที่สร้างจากรก ทำให้เกิดภาวะดื้ออินสุลิน และการตั้งครรภ์ก็ทำให้มีการหลั่งอินสุลินจากตับอ่อนลดลง
หลักในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวาน ประกอบด้วย
การปรับวิถีการดำเนินชีวิต เป็นหัวใจสำคัญและมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาเบาหวาน โดยต้องปรับในเรื่องของอาหารโดยมีเป้าหมายเพื่อให้น้ำหนักลดลง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งเลี่ยงอาหารฟาสฟู๊ดและควรออกกำลังกายเป็นประจำวันละอย่างน้อย 30 นาที
การใช้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามวิธีการบริหารยา
ยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทาน มีทั้งยาที่กินก่อนอาหาร และหลังอาหาร
ยาก่อนอาหาร ออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายพร้อมที่จะใช้พลังงานจากแป้งและน้ำตาล โดยกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา ณ เวลาที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังจากกินอาหาร โดยทั่วไปแล้วมักแนะนำให้กินก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ข้อควรระวังของยากลุ่มนี้ เมื่อรับประทานยากลุ่มนี้แล้วจำเป็นต้องรับประทานอาหารหลังทานยาเสมอ เพราะฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าระดับปกติ จนอาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้
หากลืมกินยาต้องทำอย่างไร?
ยาก่อนอาการ เช่นเดียวกับกรณีลืมกินยา ไม่ควรกินยาหลังอาหาร เพราะยาจะออกฤทธิ์ในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงไปแล้ว จึงทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงไปมากกว่าเดิม อาจมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากลืมทานยา ควรเว้นยาที่ลืมทานไปโดยไม่ต้องทานเพิ่มเป็นสองเท่าในมื้อถัดไป
ยาหลังอาหาร ยาที่กินหลังอาหารมีหลายกลุ่มด้วยกัน และอาจใช้ยารักษามากกว่า 1 ชนิด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษามากขึ้น กรณีลืมทานยากลุ่มนี้หลังอาหาร สามารถทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้อาหารมื้อถัดไปแล้ว ควรเก็บยาไว้ทานหลังอาหารมื้อถัดไปแทน
ยารักษาโรคเบาหวานชนิดฉีด
ปัจจุบันมียาฉีดหลายชนิด เช่น อินซูลิน ยากลุ่ม GLP-1 analogue ใช้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้อง วันละ 1-4 ครั้งก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง หรือฉีดก่อนนอน ควรหมุนเวียนเปลี่ยนที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทนการฉีดซ้ำที่เดิม แต่ยังคงอยู่ในบริเวณผิวหนังเดียวกัน เช่น ฉีดบริเวณต้นขา ก็เปลี่ยนตำแหน่งแทงเข็มโดยให้ยังคงอยู่ที่บริเวณต้นขา อินซูลินที่ยังไม่เปิดใช้ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะนำมาใช้ค่อยนำออกมาจากตู้เย็น จากนั้นคลึงระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้างเพื่อให้อินซูลินมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิร่างกาย ก่อนนำไปฉีด ดังนั้นถ้าไปโรงพยาบาลและรับยาฉีดอินซูลิน จึงต้องบรรจุน้ำแข็งระหว่างเดินทางจากโรงพยาบาลกลับมาบ้าน เพราะยาฉีดอินซูลินหากโดนความร้อนจัดจะเสื่อมสภาพและใช้ไม่ได้อีกต่อไป
สำหรับอินซูลินที่เปิดใช้แล้วสามารถวางไว้นอกตู้เย็นได้หากอุณหภูมิไม่สูงมาก แต่ต้องใช้ให้หมดภายใน 30 วัน ซึงข้อดีของยาฉีดอินซูลิน สามารถใช้ได้ในทุกกรณีที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยอาจมีข้อบ่งชี้เฉพาะ เช่น ภาวะกรดคั่งจากคีโตน การตั้งครรภ์ โรคตับ โรคไต การผ่าตัด การติดเชื้อรุนแรง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง และผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้จากการควบคุมอาหารและยาเม็ดลดระดับน้ำตาล แต่ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ได้แก่ ภาวะน้ำตาลต่ำ น้ำหนักเพิ่มขึ้น เป็นต้น
สิ่งสำคัญของโรคเบาหวาน…คือต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับสู่ระดับปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด การใช้ยาอย่างสมเหตุผล และการรับประทานยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้การควบคุมโรคที่ดีจะทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นทางด้านร่างกาย รวมทั้งลดผลกระทบทั้งด้านจิตใจและสังคม ดังนั้น เกณฑ์ที่แสดงว่าควบคุมโรคเบาหวานได้ คือ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร (Fasting Plasma Glucose FPG) อยู่ในระดับ 90-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารน้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือระดับฮีโมโกลบินที่มีนํ้าตาลเกาะ (HbA1c) น้อยกว่า 7