ข้อมูลโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)

  • 0 ตอบ
  • 729 อ่าน
ข้อมูลโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)

ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (ผื่นแพ้จากกรรมพันธุ์ ก็เรียก) เป็นโรคที่พบบ่อยในทารก เด็กโต และคนหนุ่มคนสาว ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นเท่ากัน เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวมักจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ เช่น หืด หวัดภูมิแพ้ ลมพิษ มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีสารภูมิแพ้ ที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลินอี (immunoglobulin E) หรือไอจีอี (IgE) ในเลือดสูงกว่าปกติ

อาการผื่นคันส่วนมากจะเกิดขึ้นโดยหาสาเหตุที่แน่นอนไม่ได้ บางรายอาจพบว่าแพ้อาหาร นมวัว (ทารกที่กินนมวัว มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าทารกที่กินนมมารดา) ฝุ่นละออง สบู่ ขนสัตว์ อากาศร้อน หรืออากาศหนาว แสงแดด เป็นต้น

นอกจากนี้ การได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นโรคติดเชื้อของผิวหนังหรือทางเดินหายใจ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้

ผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส และเด็กที่เป็นโรคนี้ เมื่อโตขึ้นอาจเป็นโรคหวัดภูมิแพ้หรือโรคหืดตามมา

สาเหตุ
เกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์


อาการ

แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะทารก ระยะเด็ก และระยะผู้ใหญ่

ระยะทารก มักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุได้ 2-6 เดือน (เฉลี่ย 4 เดือน) โดยมีอาการผื่นแดง และตุ่มน้ำใสคัน

บางครั้งมีลักษณะเป็นหนังแห้งกว่าปกติ เป็นขุย และเป็นสะเก็ดขึ้นที่จมูก แก้ม หน้าผาก ศีรษะ ซึ่งมักจะขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมีลักษณะรอยโรคคล้ายคลึง

บางครั้งอาจลามไปที่ลำตัวตอนบน แขนขา และบริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อม

มักจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง อาการมักจะกำเริบขณะฟันจะขึ้น หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ

ส่วนมากจะหายได้เมื่ออายุ 2-4 ปี ในพวกที่ไม่หายก็จะเข้าสู่อาการในระยะเด็ก

ระยะเด็ก จะขึ้นเป็นผื่นแดง อาจมีตุ่มน้ำปน มีอาการคันมาก เมื่อเกาหรือถูมาก ๆ หนังอาจหนาขึ้น มักพบในบริเวณข้อพับ เช่น แขนพับ ข้อมือ ขาพับ ข้อเท้า รอบคอ มักเป็นทั้งสองข้างของร่างกายคล้ายคลึงกัน

บางรายอาจเกาจนน้ำเหลืองเยิ้ม หรือเป็นหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจพบมีต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงมีการอักเสบร่วมด้วย

ระยะผู้ใหญ่ จะมีผื่นคันที่ข้อพับต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่พบในระยะเด็ก อาการมักจะกำเริบเวลามีภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือในระยะก่อนมีประจำเดือน อาการจะน้อยลงเมื่ออายุ 20 กว่าปี และจะค่อย ๆ หายไปเมื่ออายุ 30 ปี


ภาวะแทรกซ้อน

อาจมีอาการคันมากจนทำให้นอนหลับไม่สนิท หรืออาจเกาจนมีน้ำเหลืองเยิ้ม ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย (กลายเป็นตุ่มหนอง หรือแผลพุพอง) หรือเชื้อรา (กลายเป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น โรคเชื้อราแคนดิดา) หรือเชื้อไวรัส

ถ้าติดเชื้อเริม (ซึ่งเป็นไวรัส) อาจเป็นเริมชนิดรุนแรงได้ เรียกว่า “Eczema herpeticatum”

ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจเกาเป็นนิสัย ทำให้ผิวหนังหนาตัว มีสีคล้ำ เรียกว่า “Neurodermatitis” หรือ “Lichen simplex chronicus” ซึ่งบางคนเรียกว่า “โรคเรื้อนกวาง” โดยไม่เกี่ยวกับโรคเรื้อน และไม่เป็นโรคติดต่อแบบโรคเรื้อนแต่อย่างใด

อาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสมาธิในการทำงาน หรืออาจรู้สึกอาย ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าเข้าสังคม

เด็กที่เป็นโรคนี้ อาจพบว่าเป็นต้อกระจกตั้งแต่อายุ 20-40 ปี ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตัวโรคเอง หรือเกิดจากการใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ ก็ได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบผื่นแดงและตุ่มน้ำใส ผิวหนังอาจมีลักษณะหนาตัวขึ้น บางครั้งอาจพบมีน้ำเหลืองเยิ้ม

บางราย แพทย์อาจทำการทดสอบทางผิวหนัง โดยวิธี patch test (ใช้น้ำยาที่มีสารต่าง ๆ ปิดที่หลัง แล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น)


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์

2. ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน หรือไฮดรอกไซซีน

3. หากไม่ได้ผล หรือเป็นรุนแรง แพทย์จะให้กินสเตียรอยด์ (เช่นเพร็ดนิโซโลน) ในช่วงระยะสั้น ๆ (จะไม่ให้ต่อเนื่องนาน ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้)

4. ถ้าเป็นตุ่มหนองหรือพุพอง ควรชะล้างด้วยน้ำเกลือ และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการผื่นแดงหรือตุ่มคัน ตามผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงอาหารและการสัมผัสถูกสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการกำเริบใหม่ 
    ผื่นกลายเป็นตุ่มหนอง แผลพุพอง เป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง หรือน้ำเหลืองไหล
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    รักษาอุณหภูมิรอบตัวให้พอเหมาะ อย่าให้ร้อนหรือหนาวไป อย่าอาบน้ำร้อน อย่าใส่เสื้อผ้าหนาหรืออบเกินไป
    อย่าอาบน้ำบ่อย ควรอาบน้ำวันละครั้ง นานไม่เกิน 10-15 นาที อาบน้ำอุ่น และใช้สบู่อ่อนถูตัว หลังอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งแล้วใช้ครีม หรือครีมบำรุงผิว หรือปิโตรเลียมเจลลี่ทา
    ใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิว หรือปิโตรเลียมเจลลี่ทาให้เกิดความชุ่มชื้น อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
    ควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ฝุ่น ละอองเกสร สบู่ที่มีฤทธิ์แรง สบู่หอม สบู่ยา เป็นต้น
    งดอาหารที่อาจทำให้แพ้ง่าย (เช่น นม ไข่ อาหารทะเล) รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้ง่าย (เช่น แอสไพริน เพนิซิลลินวี ซัลฟา)
    เสื้อผ้า ถุงเท้า ควรใช้ผ้าฝ้าย อย่าใช้ขนสัตว์
    ควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการเกาด้วยเล็บสกปรก ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อแทรกซ้อนได้
    ควรหลีกเลี่ยงภาวะเครียดทางจิตใจ

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ชาวบ้านอาจเรียกว่า น้ำเหลืองเสีย ความจริงโรคนี้ไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับน้ำเหลืองแต่อย่างใด แต่เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการคันและเกาจนน้ำเหลืองเยิ้ม จึงเรียกชื่อตามอาการที่พบ ทั้งนี้อาจหมายถึงอาการผื่นคันอื่น ๆ เช่น ลมพิษ ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส พุพอง

2. โรคนี้จะหายได้เองเมื่อโตขึ้น ยกเว้นในรายที่มีอาการตั้งแต่เล็ก หรือมีผื่นคันขึ้นทั่วร่างกาย หรือเป็นโรคหืดร่วมด้วย ก็อาจจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ไม่ค่อยหายขาด


 

โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี google ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google