บริหารจัดการอาคาร:รู้จัก ‘การไฟฟ้า’ แต่ละหน่วยงาน กฟน. กฟภ. กฟผ. คืออะไร?

  • 0 ตอบ
  • 772 อ่าน
บริหารจัดการอาคาร:รู้จัก ‘การไฟฟ้า’ แต่ละหน่วยงาน กฟน. กฟภ. กฟผ. คืออะไร? 

หลายคนอาจจะเคยสับสนว่าการไฟฟ้าแต่ละหน่วยงานทั้งการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ทางเซฟไทยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักแบบเจาะลึกกันว่าการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานคืออะไร และมีหน้าที่อะไรบ้าง

การไฟฟ้านครหลวง (MEA)

การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. (Metropolitan Electricity Authority: MEA) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีหน้าที่จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ

ที่มาของการไฟฟ้านครหลวง

การก่อตั้งการไฟฟ้านครหลวงเริ่มต้นจากการที่ข้าราชการชั้นสูงไปเดินทางไปเห็นว่ากรุงปารีสมีไฟฟ้าสว่างที่เมือง จึงอยากให้ประเทศไทยได้มีไฟฟ้าใช้เช่นกัน โดยเริ่มมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นก็ได้มีการก่อตั้งการไฟฟ้ากรุงเทพ และกองการไฟฟ้าหลวงสามเสนขึ้นเพื่อขายความเจริญให้ประชาชนในบริเวณตอนเหนือและตอนใต้ของคลองบางกอกน้อยและคลองบางลำพูได้ใช้เช่นเดียวกับอารยประเทศ จากนั้นก็ได้พัฒนาเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในชื่อ ‘การไฟฟ้านครหลวง’ จนถึงปัจจุบัน

หน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวง

1.    รับกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว

ในปัจจุบัน กฟน. จะรับกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งมีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า และรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน หรือผู้ผลิตจากต่างประเทศ จากนั้นไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่อยู่ในการดูแลของ กฟผ. ก่อนที่จะส่งต่อมายังสถานีไฟฟ้าของ กฟน. ผ่านการควบคุมจัดการระบบไฟฟ้าเพื่อแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชน บ้านเรือนของประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัด

2.    การดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ของการไฟฟ้านครหลวง

นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวงยังมีหน้าที่ดำเนินธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด เช่น การให้บริการออกแบบ บำรุงรักษา ทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า การบริการโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง การบริการระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การบริการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีต และโรงพยาบาลไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเปิดให้บริการแก่พนักงาน ครอบครัว พนักงานเกษียณอายุของ กฟน. รวมถึงบุคคลภายนอก

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (Provincial Electricity Authority: PEA) มีหน้าที่หลักเช่นเดียวกับการไฟฟ้านครหลวง คือ การจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชน แต่จะดูแลพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ยกเว้นพื้นที่ 3 จังหวัดที่การไฟฟ้านครหลวงดูแลอยู่

ที่มาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อทางราชการได้ตั้งแผนกไฟฟ้าขึ้นในกองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และได้ก่อสร้างไฟฟ้าเทศบาลเมืองนครปฐมขึ้น เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก จากนั้นไฟฟ้าก็ได้แพร่หลายไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ

ในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการปรับปรุงแผนกไฟฟ้าเป็นกองไฟฟ้า สังกัดกรมโยธาเทศบาลกระทรวงมหาดไทย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองไฟฟ้าภูมิภาค ในภายหลัง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว และเริ่มพัฒนาความเจริญกระจายสู่ท้องถิ่น รัฐบาลจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งขยายการก่อสร้างกิจการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และก่อตั้งองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2497 เพื่อดำเนินกิจการไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับการสถาปนาในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2503 โดยรับช่วงภารกิจต่อจากองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อรับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นโดย กฟผ. ส่งต่อให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ

หน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

1.    จำหน่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนทั่วประเทศโดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนเป็นหลัก

หน้าที่หลักของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คือ การจำหน่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยคำนึงว่า ไฟฟ้าเป็นกิจการสาธารณูปโภค จึงไม่ได้ดำเนินการเพื่อมุ่งเน้นกำไรเป็นหลัก ดังนั้นการกำหนดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าจึงไม่ได้สูงจนเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชน

2.    จัดหาและรับพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และผู้ผลิตไฟฟ้าอื่น ๆ

หลัก ๆ กฟภ. จะรับกระแสไฟฟ้าจากสถานีย่อยของ กฟผ. และนำทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในประเทศ เช่น พลังงานน้ำ และแสงอาทิตย์ เป็นต้น มาผลิตพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับหมู่บ้านใกล้เคียงบริเวณโรงจักร และส่งเข้าระบบจำหน่ายของ กฟภ.

3.    พัฒนาระบบการไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญต่อความก้าวหน้าของประเทศในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงได้ดำเนินการเสริมระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าให้มีความพร้อมสำหรับการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ จากเดิมที่รับพลังงานไฟฟ้าระดับแรงดัน 22 และ 33 กิโลโวลต์จากสถานีย่อยของ กฟผ. ก็ได้ขอรับกำลังไฟฟ้าระดับแรงดันสูง 115 กิโลโวลต์

4.    การดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

นอกเหนือจากบริการหลักในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ กฟภ. ยังได้ดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น การติดตั้ง ตรวจสอบ บำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การทดสอบ จัดหา และให้เช่าอุปกรณ์ไฟฟ้า การให้เช่าใยแก้วนำแสง และธุรกิจเกี่ยวกับการชาร์จรถไฟฟ้า

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. (Electricity Generating Authority of Thailand: EGAT) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิต จัดหา และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ กฟน. กฟภ. ผู้ใช้ไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดและประเทศใกล้เคียง รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้าภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ กฟผ.

ที่มาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีจุดกำเนิดจากมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินกิจการไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น กิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและกิจการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โดยกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เกิดจากการรวมกิจการด้านการผลิตไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ

หลังจากนั้นก็ได้มีการขยายขอบเขตการผลิตไฟฟ้าด้วยการก่อตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า
หน้าที่หลักของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

1.    การผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งต่อกระแสไฟฟ้า

กฟผ. หน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าในสังกัดซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าหลายประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าดีเซล และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ

2.    การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน และผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แล้ว กฟผ. ยังมีหน้าที่ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก และผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน

3.    การส่งไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน

กฟผ. ดำเนินการจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นผ่านระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่รับซื้อโดยตรงจาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ซึ่งนำไปจำหน่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เช่น สปป.ลาว และมาเลเซีย

4.    การดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ

กฟผ. ได้ดำเนินธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้จากความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ ด้วยการให้บริการด้านธุรกิจวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่ง ธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ธุรกิจบำรุงรักษาระบบส่ง ธุรกิจผลิตภัณฑ์จากวัตถุพลอยได้ และธุรกิจโทรคมนาคม

รู้จักการไฟฟ้าแต่ละหน่วยงาน

หน่วยงานหลักที่ดูแลเกี่ยวกับการไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้ง 3 แห่ง อย่าง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีหน้าที่ในการจัดหาและจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ กฟน. จะรับผิดชอบในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ และ กฟภ. จะดูแลในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 จังหวัดนี้ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีหน้าที่ผลิตและจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ. รวมถึงจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง


 

โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี google ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google