โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: พิษปลาปักเป้า (Puffer fish poisoning)

  • 0 ตอบ
  • 5748 อ่าน

ปลาปักเป้าและแมงดาถ้วยมีสารพิษชนิดเดียวกัน คือ เทโทรโดท็อกซิน (tetrodotoxin)* สะสมอยู่ในตัวการรับพิษจากสัตว์น้ำทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงมีอาการแสดงเหมือนกัน และมีวิธีการดูแลรักษาแบบเดียวกัน

ในบ้านเรามีรายงานผู้ที่ป่วยและตายจากการกินปลาปักเป้า (ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล) และแมงดาถ้วยเป็นครั้งคราว พบได้ในคนทุกวัย มักพบเป็นพร้อมกันหลายคนที่กินสัตว์น้ำพวกนี้ด้วยกัน

ปลาปักเป้า (ปลาเนื้อไก่ก็เรียก) ปกติมีลักษณะเหมือนปลาทั่วไป รอบตัวมีหนามสั้นหรือยาวแล้วแต่ชนิด เมื่อถูกรบกวนจะพองตัวคล้ายลูกโป่งหรือทุเรียนที่มีหนามแหลม พบทั้งในน้ำจืด (ตามแม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง เช่น ปักเป้าเขียว ปักเป้าเหลือง ปักเป้าทอง) และน้ำทะเล (บริเวณอ่าวไทย เช่น ปักเป้าหนามทุเรียน ปักเป้าดำ ปักเป้าเเดง ปักเป้าดาว ปักเป้าหลังเเก้ว)

มีชื่อภาษาอังกฤษ เช่น puffer fish, globe fish, balloon fish, swell fish, toad fish เป็นต้น

มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า "ฟูหงุ"

ปลาปักเป้าทะเลจะมีพิษมากในไข่ ตับ ลำไส้ หนังส่วนในเนื้อปลามีพิษน้อยหรือไม่มี ปลาปักเป้าน้ำจืด มีพิษมากที่สุดในหนัง รองลงมาในไข่ เนื้อปลา ตับ ลำไส้ ตามลำดับ พิษจะมีมากขึ้นในฤดูวางไข่

เเมงดาถ้วย (แมงดาไฟหางกลม แมงดาไฟ เหรา, horseshoe crab) ลักษณะตัวเล็ก หางกลมเรียว ไม่มีหนาม อยู่ตามป่าชายเลน มีพิษโทรโดท็อกซินเช่นเดียวกับปลาปักเป้า พิษจะมีมากในไข่เเมงดามากกว่าในเนื้อ นิยมนำมายำหรือเเกงกิน

ส่วนแมงดาทะเลที่ไม่มีพิษคือ เเมงดาจาน (แมงดาหางเหลี่ยม, giant king crab) มีลักษณะตัวใหญ่ หางเหลี่ยม มีหนามเล็กน้อย อยู่ในทะเลน้ำลึก

*เทโทรโดท็อกซิน เป็นสารที่มีพิษต่อประสาทร้ายแรงรองลงมาจากพิษโบทูลินและบาดทะยัก มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาท โดยการปิดกั้นช่องทางโซเดียม (sodium channel inhibitor) ของเซลล์ประสาท โซเดียมจึงไม่ถูกดูดกลับเข้าไปในเซลล์ ทำให้ไม่เกิดคลื่นกระแสไฟฟ้ากระจายไปตามเส้นประสาทได้ รวมทั้งออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณประสาทจากส่วนกลางไปที่จุดเชื่อมต่อประสาทกับกล้ามเนื้อ มีผลต่อประสาทรับความรู้สึก ประสาทบังคับกล้ามเนื้อ และประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการอื่น ๆ ผู้ป่วยมักจะตายจากการหยุดหายใจเนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต การรับพิษขนาด 2 มก. สามารถทำให้เสียชีวิตได้
 
นอกจากปลาปักเป้าและแมงดาถ้วยแล้ว พิษชนิดนี้พบในสัตว์ทะเลอื่น ๆ เช่น หมึกสายบางชนิด หอยกาบเดี่ยวบางชนิด กบ และปลาบางสายพันธุ์ เป็นต้น พิษเทโทรโดท็อกซินเกิดจากการสังเคราะห์ของแบคทีเรียหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในสัตว์เหล่านั้น โดยไม่เป็นพิษกับมัน (แต่จะใช้พิษในการทำร้ายสัตว์อื่นและป้องกันตนเอง)
 
พิษชนิดนี้สามารถทนต่อความร้อนได้สูง การต้ม ทอด ปิ้ง ย่างให้สุก ไม่สามารถทำลายพิษได้ และในปัจจุบันยังไม่มียาหรือเซรุ่มที่ใช้แก้พิษชนิดนี้

สาเหต
เกิดจากการบริโภคปลาปักเป้าและแมงดาถ้วย โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อาการ
เกิดหลังกินปลาปักเป้าหรือแมงดาถ้วย 10-45 นาที บางรายอาจนานถึง 12-20 ชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณพิษที่ได้รับ ถ้ากินพิษเข้าไปมาก อาการก็จะเกิดเร็ว

แรกเริ่มจะรู้สึกชาและเสียวแปลบ ๆ ที่ริมฝีปากและลิ้นก่อน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ตัวลอย ๆ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วย

ระยะต่อมาอาการชาจะลุกลามไปที่ใบหน้า แขนขา และปลายมือปลายเท้า ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ไม่ค่อยมีแรง จนลุกขึ้นยืนหรือเดินไม่ได้ และอาจรู้สึกแน่นอึดอัดหายใจไม่ออก

ถ้ารับพิษมากอาการจะรุนแรงมากขึ้น มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น โดยเริ่มจากไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนขาตามที่ต้องการได้ ตามมาด้วยอาการกลืนลำบาก พูดลำบาก ตะกุกตะกักจนกระทั่งพูดไม่ได้ (เนื่องจากกล้ามเนื้อคอหอยและกล่องเสียงเป็นอัมพาต) ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี

ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะหายใจไม่ได้หรือหยุดหายใจ (เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลม หน้าอก และท้องเป็นอัมพาต) ตัวเขียวและหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว

ความรุนแรงและระยะของโรคขึ้นกับปริมาณพิษที่ได้รับ

ถ้ากินพิษมาก อาการจะลุกลามรวดเร็ว และอาจเสียชีวิตภายใน 20-30 นาทีหลังจากเริ่มมีอาการชาที่ปาก บางรายอาจเสียชีวิตภายใน 4-6 ชั่วโมง หรือภายใน 24 ชั่วโมง

แต่ถ้าภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตมาได้ ก็มักจะค่อย ๆ ฟื้นคืนสู่ปกติได้เอง ซึ่งอาจใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง


ภาวะแทรกซ้อน
ที่ร้ายแรง คือ ภาวะการหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วย อาจมีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนเนื่องจากการสำลัก


การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการบริโภค และสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มักตรวจพบอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาเป็นอัมพาต พูดลำบาก กลืนลำบาก

อาจพบภาวะขาดน้ำจากอาการอาเจียน ท้องเดิน

ถ้ารุนแรงจะพบตัวเขียว หายใจไม่ได้ ชักหรือหมดสติ ชีพจรเต้นช้า (มักน้อยกว่า 40 ครั้ง/นาที) ความดันโลหิตต่ำ รูม่านตาขยาย 2 ข้าง ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง


การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาขั้นพื้นฐาน (อ่านเพิ่มเติมที่ "การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ" ด้านล่าง) และรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และเฝ้าติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองและแก้ไขตามอาการที่พบต่อไป เช่น ในรายที่หายใจไม่ได้ ต้องใส่ท่อหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ จนกว่าพิษจะถูกขับออกจากร่างกายจนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 9-12 ชั่วโมง

แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยทุกราย

ถ้าความดันโลหิตต่ำมาก ให้ยากระตุ้นความดัน เช่น โดพามีน

ถ้าชีพจรเต้นช้า ให้อะโทรพีน หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker)

บางรายอาจให้นีโอสติกมีน (neostigmine) หรืออีโดรโฟเนียม (edrophonium) ช่วยให้อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงดีขึ้น

ผลการรักษา หากได้รับการช่วยเหลือได้ทัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขอาการหายใจไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต) ผู้ป่วยมักจะรอดชีวิต และฟื้นหายเป็นปกติภายใน 24-48 ชั่วโมง


การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ
 
1. ถ้าผู้ป่วยกินสัตว์หรือพืชพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และยังไม่อาเจียน รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยการให้ไอพีเเคกน้ำเชื่อมหรือใช้นิ้วล้วงคอ

2. ให้ผู้ป่วยกินผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1 แก้ว โดยให้ผู้ป่วยดื่มเอง ถ้าอาเจียนหรือดื่มเองไม่ได้ ให้ป้อนผ่านท่อสวนกระเพาะ (stomach tube) ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ควรใส่ท่อช่วยหายใจก่อนเพื่อป้องกันการสำลัก

ควรให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย (วิธีนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อให้กินภายใน 30 นาทีหลังกินสัตว์หรือพืชพิษ) ไม่ควรให้ก่อนหรือหลังให้ยาที่ทำให้อาเจียน

ในรายที่รับพิษร้ายเเรง เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย เห็ดพิษร้ายแรง หรือสงสัยรับพิษปริมาณมาก ควรให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง

3. ทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำ

วิธีนี้จะได้ผลดี เมื่อผู้ป่วยกินสารพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่มีอาการอาเจียน ถ้าทำหลังกินสารพิษมากกว่า 4 ชั่วโมง อาจไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มกับผลข้างเคียง (ที่สำคัญคือ การสำลักเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ)

ควรกระทำโดยบุคลากรที่ชำนาญ และในที่ที่มีความพร้อม

ไม่จำเป็นต้องทำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก และห้ามทำในผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติ

อาจให้ผงถ่านกัมมันต์กินก่อนล้างกระเพาะ หรือผสมผงถ่านกัมมันต์ในน้ำล้างกระเพาะก็ได้

4. ให้ผู้ป่วยดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนต ขนาด 2-5% จำนวน 50 มล.

5. ให้กินยาระบาย ซอร์บิทอล (sorbitol) ขนาด 70% อาจกินเดี่ยว ๆ หรือผสมกับผงถ่านกัมมันต์แทนน้ำก็ได้ ถ้าไม่มีอาจให้ยาระบายอื่น ๆ เช่น ยาระบายแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) แทน ให้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ห้ามทำ ในรายที่มีอาการถ่ายท้องมากอยู่แล้ว หรือมีภาวะขาดน้ำที่ยังไม่ได้รับการทดแทน

6. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

7. ถ้าชักฉีดไดอะซีเเพม 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ

8. ถ้าหยุดหายใจหรือหายใจไม่ได้ ให้ทำการช่วยเหลือด้วยการเป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

9. ถ้าหมดสติ ให้การรักษาแบบหมดสติ


การดูแลตนเอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยเกิดอาการพิษปลาปักเป้าหรือพิษแมงดาถ้วย ควรทำการปฐมพยาบาล แล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

การปฐมพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ

1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อขับพิษออก

    ถ้ามียากระตุ้นอาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม (syrup ipecac) ให้กินครั้งละ 15-30 มล. (เด็กโต 15 มล.) และดื่มน้ำตามไป 1 แก้ว ถ้ายังไม่อาเจียนใน 20 นาที กินซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
    ถ้าไม่มียา ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1 แก้ว แล้วใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอกระตุ้นให้อาเจียน ถ้าไม่ได้ผลทำซ้ำอีกครั้ง

ควรเก็บเศษอาหารที่อาเจียน ไว้ส่งตรวจวิเคราะห์

วิธีนี้จะได้ผลดี ต้องรีบทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินสารพิษ และไม่ต้องทำหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเองอยู่แล้ว

ห้ามทำ ในผู้ป่วยที่ชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ หรือสารพิษไม่ทราบชนิด

2. ถ้ามีผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ให้กินขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1/2-1 แก้ว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าร่างกาย (ไม่ต้องทำถ้าผู้ป่วยกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์)

ถ้าไม่มีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินไข่ดิบ 5-10 ฟอง หรือดื่มนมหรือน้ำ 4-5 แก้ว

3. สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้กินสารละลายดินเหนียว (Fuller’s earth) โดยผสมผงดินเหนียว 150 กรัม หรือ 2 1/2 กระป๋อง ในน้ำ 1 ลิตร ถ้าไม่มีให้ดื่มน้ำโคลนดินเหนียวจากท้องร่องในสวน (ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว หรือสารพิษตกค้าง) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ได้

4. สำหรับผู้ที่กินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ปลาทะเลพิษ หอยทะเลพิษ เห็ดพิษ ให้ดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนตขนาด 2-5% จำนวน 50 มล. (อาจเตรียมโดยผสมผงฟู 1-2.5 กรัม ในน้ำ 50 มล.) ซึ่งจะช่วยลดพิษของอาหารพิษได้

ห้ามทำ ข้อ 2-4 ถ้าผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ

5. ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

6. ถ้าผู้ป่วยชักหรือหมดสติ ให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยชัก (อ่านใน "โรคลมชัก" เพิ่มเติม) หรือหมดสติ (อ่านใน "อาการหมดสติ" เพิ่มเติม)

7. รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ด้วย


การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการกินปลาปักเป้าทุกชนิด และแมงดาทะเล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมงดาถ้วย หรือไม่แน่ใจว่าเป็นแมงดาชนิดใด) ไม่ว่าจะปรุงหรือทำให้สุกด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม

2. ในบ้านเรามีรายงานผู้ป่วยเป็นพิษปลาปักเป้าจากการบริโภคอาหารที่มีเนื้อปลาประกอบ เช่น ก๋วยเตี๋ยวปลา ข้าวต้มปลา ต้มยำปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย ผัดกระเพราปลา สเต๊กปลา ไข่ปลา (สด ต้มยำ ทอด หรือต้ม) ปลาร้า เป็นต้น เนื่องจากผู้จำหน่ายนำเนื้อปลาปักเป้ามาเจือปนในอาหาร ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารที่ทำจากเนื้อปลาตามร้านอาหาร และควรบริโภคเนื้อปลาที่ทราบชนิดแน่ชัดว่าไม่ใช่ปลาปักเป้า


ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ในระยะแรกอาจมีอาการแบบอาหารเป็นพิษ (คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน) แต่มักมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า และแขนขาร่วมด้วย ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการอาหารเป็นพิษ ควรซักถามอาการชา และประวัติอาหารการกิน ควรส่งโรงพยาบาลทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ประวัติว่าผู้ป่วยกินปลาปักเป้าหรือแมงดาถ้วยก่อนมีอาการ

2. เมื่อพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ไม่ว่าจะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด ก็ควรส่งตัวเข้าไปรักษาอยู่ในโรงพยาบาล และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตได้ภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังมีอาการ ก็มักจะหายได้เป็นปกติ

3. ควรให้ความรู้แก่คนทั่วไปให้ทราบถึงพิษภัยจากการกินปลาปักเป้าและแมงดาทะเล และอาการแสดงของโรคนี้ เพื่อให้รู้จักระวังตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคอาหารที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบและอาหารทะเลตามร้านอาหาร (แม้จะเตรียมให้สุก พิษก็ไม่ถูกทำลาย) ถ้าพบว่ามีอาการแบบอาหารเป็นพิษ และรู้สึกชาที่ริมฝีปาก (อาจร่วมกับชาที่ลิ้น ใบหน้า) หลังบริโภคอาหารเหล่านี้ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

4. โรคนี้มีอาการคล้ายโรคโบทูลิซึม คือ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอัมพาตและหยุดหายใจ ต่างกันตรงการเรียงลำดับ โรคนี้จะเป็นจากส่วนปลายเข้าหาส่วนกลาง (ascending paralysis) คือ เริ่มจากแขนขาก่อนแล้วไปที่หน้า (คอหอยกับกล่องเสียง) และไปสิ้นสุดที่หน้าอก หน้าท้อง (หยุดหายใจ)

ส่วนโบทูลิซึมจะเป็นจากบนลงล่าง (descending paralysis) คือ เริ่มที่หน้า (ตา คอหอย กล่องเสียง) ก่อน ค่อยลงมาที่หน้าอก หน้าท้อง (หยุดหายใจ) แล้วไปสิ้นสุดที่แขนขา

นอกจากนี้ โรคนี้จะมีอาการชาที่ปาก ลิ้น หน้า และแขนขา ขณะที่อีกโรคหนึ่งไม่มีอาการชา



โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: พิษปลาปักเป้า (Puffer fish poisoning) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com

 

โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี google ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google