สถานภาพทางการเงินเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน แม้ว่าคุณจะมีการวางแผนรับมือเอาไว้มากน้อยแค่ไหนหรือแม้ว่าคุณจะมีการเก็บเงินสำรองเอาไว้ แต่ในบางกรณีเงินสำรองจำนวนนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการใช้จ่าย ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่หลายคนเลือกก็คือการกู้ยืมเงิน โดยหนึ่งในรูปแบบการกู้ยืมที่ได้รับความนิยมก็คือ การกู้ยืมเงินผ่านการขอสินเชื่อรถแลกเงิน
สินเชื่อรถแลกเงินเป็นรูปแบบของสินเชื่อที่ทางสถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ ได้มีการออกแบบและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละแห่งก็มีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นตัวช่วยในการพิจารณาบทความนี้เราได้รวบรวมวิธีการเลือกสินเชื่อรถแลกเงิน พร้อมคำแนะนำจากนักวางแผนการเงิน รวมทั้งยังมี 10 สินเชื่อรถแลกเงิน จากสถาบันการเงินที่ได้รับความนิยมมาฝากกันด้วย
สินเชื่อรถแลกเงินต่างจากรีไฟแนนซ์อย่างไร
สินเชื่อรถแลกเงินเป็นการขอสินเชื่อโดยการทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยใช้รถยนต์เป็นทรัพย์ประกันวงเงินกู้ด้วยการนำเล่มทะเบียนรถยนต์วางไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ยังสามารถใช้งานรถยนต์ได้ตามปกติแต่ไม่สามารถซื้อขายหรือดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
ส่วนสินเชื่อรีไฟแนนซ์เป็นการขอสินเชื่อทางเลือกสำหรับเจ้าของรถที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และยังคงมีการผ่อนชำระค่างวดกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอยู่ แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจึงดำเนินการยื่นขอสินเชื่อใหม่กับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งเดิมที่กำลังผ่อนชำระอยู่หรือจะเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ โดยผู้ขอสินเชื่อจะต้องชำระเงินปิดบัญชียอดหนี้เดิมให้แล้วเสร็จจึงจะสามาถทำสินเชื่อรีไฟแนนซ์ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับเงินส่วนต่างค่ารถมาใช้จ่ายได้
หากจะพูดให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสินเชื่อรถแลกเงินกับการรีไฟแนนซ์ต่างกันตรงที่สินเชื่อรถแลกเงินเหมาะสำหรับเจ้าของกรรมสิทธิ์รถที่ปลอดภาระการผ่อนชำระค่างวดแล้ว แต่การรีไฟแนนซ์เหมาะกับเจ้าของรถที่ยังไม่ได้มีกรรมสิทธิ์และยังคงมีการผ่อนชำระค่างวดกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอยู่นั่นเอง
แจ้งเนื้อหาผิดพลาด
วิธีการเลือกสินเชื่อรถแลกเงิน
ในการจะขอสินเชื่อรถแลกเงิน ผู้ขอสินเชื่อต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะทุกครั้งที่กำลังขอสินเชื่อนั่นหมายถึงว่าเรากำลังจะอยู่ในสถานะของลูกหนี้ ในบทความนี้เราจึงจะมาแนะนำว่าการเลือกทำสินเชื่อรถแลกเงินนั้นมีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรพิจารณา
1. เลือกสินเชื่อรถแลกเงินที่ให้วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับรถที่ปลอดภาระ
รถที่ปลอดภาระ หมายถึง รถที่ไม่มีภาระผูกพันกับสถาบันทางการเงินใด ๆ ดังนั้นการขอสินเชื่อด้วยรถที่ปลอดภาระจึงค่อนข้างง่ายกว่าการขอสินเชื่อเงินสด แต่จำนวนเงินที่ได้จะขึ้นอยู่กับรุ่นรถ อายุการใช้งาน สภาพรถ และการประเมินอื่น ๆ ของสถาบันที่ทำการขอสินเชื่อด้วย
เลือกสินเชื่อแบบโอนเล่มหรือไม่โอนเล่มทะเบียนตามความต้องการใช้วงเงินของผู้กู้
ผู้กู้สามารถเลือกขอสินเชื่อแบบโอนเล่มทะเบียนหรือไม่โอนเล่มทะเบียนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้วงเงินเท่าไหร่ โดยมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันดังนี้
・สินเชื่อแบบโอนเล่มทะเบียนรถ คือ การยื่นขอสินเชื่อที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยินยอมให้โอนกรรมสิทธิ์บนเล่มทะเบียนรถคันดังกล่าวเป็นชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินมี โดยมีข้อดีคือผู้ขอกู้มีโอกาสได้รับวงเงินการอนุมัติสินเชื่อสูง และอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่จึงอาจมีค่างวดผ่อนชำระเท่า ๆ กัน ทำให้ง่ายต่อการวางแผนชำระหนี้สินได้ในระยะยาว อีกทั้งในสัญญาสินเชื่อประเภทนี้ผู้ขอกู้ยังสามารถใช้งานรถได้ตามปกติด้วย แต่ข้อเสียคือ ระยะเวลาการดำเนินงานขออนุมัติสินเชื่อมีขั้นตอนมากกว่าแบบไม่โอนเล่ม เนื่องจากขั้นตอนการประเมินและตรวจสอบสภาพรถจะต้องละเอียดก่อนอนุมัติวงเงิน จึงอาจมีค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ผู้ขอสินเชื่อต้องรับผิดชอบด้วย
・สินเชื่อรถแลกเงินแบบไม่โอนเล่มทะเบียนรถ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การจำนำทะเบียนรถที่ไม่จำเป็นต้องโอนกรรมสิทธิ์บนเล่มทะเบียนให้แก่สถาบันการเงิน แต่ทางสถาบันจะเก็บตัวเล่มทะเบียนไว้และมอบคืนให้แก่ผู้กู้เมื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีข้อดีคือ สถาบันการเงินใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว อัตราดอกเบี้ยมีความยืดหยุ่น หรือในบางกรณีสามารถผ่อนชำระในอัตราลดเงินต้นลดดอกเบี้ยได้ ส่วนข้อเสียคือการอนุมัติวงเงินอาจจะได้น้อยกว่าแบบโอนเล่มและมีค่าใช่จ่ายในการประเมินสภาพรถยนต์ด้วย
พิจารณาจากวงเงินสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด
การให้วงเงินสำหรับสินเชื่อรถแลกเงินมีปัจจัยต่อการพิจารณาอนุมัติพื้นฐาน คือ ยี่ห้อรถ รุ่น อายุรถ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพรถปัจจุบัน อาชีพของผู้ขอสินเชื่อ เงินเดือน ภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงประวัติวินัยการเงินของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งโอกาสการได้รับอนุมัติวงเงิน 100% ของยอดกู้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้น ๆ โดยสถาบันจะมีตารางคำนวณวงเงินสูงสุด-ต่ำสุดไว้เป็นตามการประเมินราคาที่เป็นราคากลางตามมาตรฐานของตลาดรถในขณะนั้น ทั้งนี้ การพิจารณาวงเงินจะอนุมัติจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อร่วมด้วย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยรถแลกเงินขึ้นอยู่กับธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด อาจไม่เท่ากันและอาจมีเงื่อนไขการคำนวณดอกเบี้ยแตกต่างกันด้วย เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบต่อปี หรือเฉลี่ยเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อเดือน ขึ้นอยู่กับวงเงินอนุมัติ จำนวนงวดที่ต้องการผ่อน เป็นต้น ซึ่งหากเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ในระบบของการควบคุมดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอัตราดอกเบี้ยจะไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ขอสินเชื่อควรศึกษาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขสัญญา ติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์ โฆษณาอัตราดอกเบี้ยในโปรโมชันต่าง ๆ ของแต่ละสถาบันการเงิน เป็นอีกช่องทางที่ผู้ขอกู้จะได้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติได้ด้วย
ตรวจสอบขั้นตอนการขอสินเชื่อรถแลกเงินและระยะเวลาในการอนุมัติที่เหมาะสม
ขั้นตอนการขอสินเชื่อรถแลกเงินสำหรับรถที่ปลอดภาระขั้นตอนแรกคือ การกำหนดวงเงินที่ผู้ขอสินเชื่อพร้อมกับการตรวจสอบราคารถยี่ห้อ รุ่น ปีรถ รุ่นย่อยในตลาดขณะนั้นเพื่อให้ทราบวงเงินขั้นต่ำและสูงสุดว่าเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ถัดมาคือขั้นตอนการยื่นเอกสารใบสมัครขอสินเชื่อของสถาบันการเงินและเอกสารผู้ขอสินเชื่อ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เอกสารสถานภาพสมรส เอกสารทางการเงิน เช่น ใบรับรองเงินเดือน รายการเดินบัญชีธนาคาร และเอกสารเล่มทะเบียนรถที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อ
เมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินได้รับเอกสารเบื้องต้นแล้วจะดำเนินการประเมิน การตรวจสอบถ่ายภาพรถและตัวรถจริง เพื่อพิจารณาวงเงินสินเชื่อที่สามารถอนุมัติได้จริง อัตราดอกเบี้ยและจำนวนงวดที่ผู้ขอสินเชื่อต้องการ หากผู้ขอสินเชื่อตัดสินใจแล้วธนาคารหรือสถาบันการเงินนัดหมายลงนามสัญญาสินเชื่อดังกล่าวและกำหนดวันเวลารับเงินจากช่องทางที่ให้บริการ
นอกจากนี้ ประวัติวินัยทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุมัติสินเชื่อด้วย โดยระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อแลกรถแบบไม่โอนเล่ม อาจจะใช้เวลาพิจารณาอนุมัติภายในวันเดียว หรือไม่เกิน 3 วันทำการ แต่สินเชื่อแลกรถแบบโอนเล่มอาจจะต้องดำเนินการโอนเล่มให้เรียบร้อยก่อน จึงใช้ระยะเวลานานกว่าสินเชื่อแลกรถแบบไม่โอนเล่ม โดยประมาณ 7 วันทำการ ทั้งนี้ควรสอบถามจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ดำเนินการให้ผู้ขอสินเชื่อเป็นกรณีไป
ส่วนสินเชื่อแลกรถแบบไม่โอนเล่มและแบบโอนเล่มต้องตรวจสภาพรถหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสถาบันการเงินแต่ละแห่ง รวมถึงรถบางยี่ห้อ รุ่นและปีของรถด้วยเพื่อตรวจสภาพที่แท้จริงของรถ ซึ่งหากมีตรวจพบความเสื่อมโทรม มีการดัดแปลง ปรับแต่งบางประการที่มีผลต่อการใช้งานก็อาจเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการอนุมัติวงเงินสินเชื่อด้วย
เลือกสถาบันที่น่าเชื่อถือ มีช่องทางติดต่อหลากหลาย
ผู้ขอสินเชื่อควรเลือกผู้ให้บริการสินเชื่อที่น่าเชื่อถือ โดยต้องตรวจสอบว่าผู้ให้บริการนั้นมีใบอนุญาตรับรองว่าเป็นธนาคาร สถาบันบริการธุรกิจสินเชื่อรถยนต์หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ รวมทั้งต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยชัดเจนและมีการแสดงเงื่อนไขสัญญาอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา เพราะผู้ให้บริการอาจประกอบการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงอาจเสนออนุมัติวงเงินที่สูงกว่าและยังอนุมัติวงเงินสินเชื่อรวดเร็วกว่า แต่อาจเกิดปัญญาที่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้ขอสินเชื่อได้ เช่น การรายละเอียดสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ขอสินเชื่อ เป็นต้น
ปัจจุบันหลายสถาบันมีช่องทางที่หลากหลายและสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ไปที่สาขาผู้ให้บริการ ผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ ทางไปรษณีย์ หรือมีเจ้าหน้าที่มาให้บริการถึงบ้าน การเลือกสถาบันที่มีช่องทางหลากหลายอาจช่วยอำนวยความสะดวกได้มากสำหรับคนที่มีปัญหาในการเดินทางหรืออยู่ห่างไกล
อย่างไรก็ตาม หากผู้ขอสินเชื่อสามารถไปยังสถาบันการเงินที่ให้บริการได้ด้วยตนเองก็จะเป็นการดีที่สุดเพื่อผู้ขอสินเชื่อจะได้พิจารณาความมั่งคง น่าเชื่อถือของสถาบันการเงินนั้น ๆ และยังได้สอบถามรายละเอียดสัญญาสินเชื่อได้ด้วยตนเองโดยมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดด้วย
ดูอันดับสินค้า
2. เลือกการกู้แบบรีไฟแนนซ์ สำหรับรถที่ยังไม่ปลอดภาระ
รถที่ยังไม่ปลอดภาระ หมายถึง รถที่ยังติดภาระหนี้สิน กำลังผ่อนค่างวดรถอยู่ ดังนั้นการขอสินเชื่อรถแลกเงินจึงจะอยู่ในกระบวนการที่ต่างจากรถที่ไม่มีภาระผูกพันใด ๆ แล้ว ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการรีไฟแนนซ์ โดยมีข้อควรพิจารณาดังนี้
เลือกรีไฟแนนซ์รถยนต์กับสถาบันการเงินเดิมหรือสถาบันการเงินใหม่
สำหรับการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์กับสถาบันการเงินเดิมกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายเดิมมีข้อดี คือ
หากผู้ขอสินเชื่อมีวินัยทางการเงินในการผ่อนชำระหนี้ที่ดี อาจได้รับพิจารณาอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ในวงเงินการอนุมัติสูงขึ้น ไม่ต้องจัดเตรียมเอกสารใหม่ให้ยุ่งยาก ลดขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ความคำนึงถึงข้อเสียบางประการของการสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์กับสถาบันการเงินเดิม คือ ภาระยอดการผ่อนชำระยังคงเดิม แต่ด้วยสัญญาการกู้ยืมใหม่เป็นการเพิ่มระยะเวลาการชำระนานขึ้น
แต่หากผู้ขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์กับสถาบันการเงินแห่งใหม่มีข้อดี คือ ผู้ขอสินเชื่อจะได้รับเงินเพื่อปิดภาระยอดหนี้จากกสถาบันการเงินที่เดิม ได้รับส่วนลดจากการปิดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าที่เดิม สามารถทำให้ภาระยอดหนี้ที่ชำระต่องวดต่ำลงได้ แต่ข้อเสียคือ ผู้ขอสินเชื่อต้องเตรียมเอกสารเพื่อให้พิจารณาใหม่ทั้งหมด ต้องรอผลการพิจารณาใหม่ตามระยะเวลาและขั้นตอนตามที่สถาบันการเงินแห่งใหม่กำหนด
เปรียบเทียบเงื่อนไขของแต่ละผู้ให้บริการ รวมถึงค่าธรรมเนียมการกู้เงิน
ปัจจุบันผู้ให้บริการรีไฟแนนซ์มีเงื่อนไขการให้บริการไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีหลักการพื้นฐานดังนี้ เช่น เงื่อนไขยอดการชำระจากสถาบันการเงินแห่งเดิมต้องมีการชำระมาแล้วประมาณร้อยละ 50 ของวงเงินสินเชื่อจึงจะสามารถยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ได้ รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ เช่น การประเมินรถ การตรวจสภาพรถ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินกำหนดราคาตลอดจนขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติและการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่แตกต่างกันมากนัก หากเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย
เลือกสถาบันการเงินที่ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลงและอัตราดอกเบี้ยถูก
สำหรับรถที่ยังไม่ปลอดภาระ ผู้ขอสินเชื่อควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินเป็นหลัก ร่วมกับการตั้งเป้าวงเงินที่ต้องการได้รับอนุมัติให้ครอบคลุมวงเงินสินเชื่อเดิมแล้วยังเหลือจำนวนเงินส่วนต่าง โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยลดลง และ/หรือจำนวนการผ่อนชำระรายงวดยาวขึ้น แต่ยอดหนี้ที่ชำระต่องวดลดลง ทั้งนี้ผู้กู้ควรพิจารณาความคุ้มค่าและตอบโจทย์วัตถุประสงค์ทางการเงินที่ขอสินเชื่อของตนเองอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ
การรีไฟแนนซ์สำหรับรถที่ยังไม่ปลอดภาระทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง สามารถทำได้หากเลือกรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าและเป็นไปได้ว่าจะได้รับเงินก้อนหลังจากหักลบกลบหนี้จากสัญญาเดิม ขึ้นอยู่กับวงเงินสินเชื่อใหม่ว่าวงเงินการพิจารณาครอบคลุมวงเงินสินเชื่อเดิม
สินเชื่อรถแลกเงินต่างจากรีไฟแนนซ์อย่างไร อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.checkraka.com/money/article/111512