เช็คด่วนพฤติกรรมเสี่ยงโรคตับอักเสบ รู้แล้ว ควรเลี่ยงตับ เป็นอวัยวะที่สำคัญ มีหน้าที่สร้างน้ำดี เพื่อการช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน และทำลายสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย พร้อมทั้งกรองของเสียต่างๆ ให้เป็นของดีมีประโยชน์นำกลับมาใช้ในร่างกาย ดังนั้นถ้าตับทำงานได้น้อยลง หรือเกิดโรคของตับ เช่น มีไขมันพอกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างก่ายที่ส่งผลไปทั้งระบบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้เมื่อตับเสียการทำงานจนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะตับวาย และโรคมะเร็งตับได้
สารพัดโรคร้ายทำลายตับ
โรคตับ คือ โรคที่เกิดจากตับทำงานผิดปกติ ด้อยประสิทธิภาพลง โรคตับพบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ภาวะตัวเหลืองที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือโรคไวรัสตับอักเสบที่พบได้ในทุกอายุ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคตับมักจะไม่มีอาการที่ชัดเจนจึงไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือเกิดโรคแล้ว โดยโรคที่เกี่ยวกับตับ ได้แก่
1. ไขมันพอกตับ เป็นไขมันสะสมในเนื้อตับ จนตับเกิดการอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เซลล์ตับจะค่อยๆ ถูกทำลาย จนตับไม่สามารถทำงานได้ เกิดจากการที่เราบริโภคไขมัน น้ำตาล ของหวาน หรือบริโภคแป้งมากเกินไป พอร่างกายใช้ไม่หมด ก็จะสะสมเป็นไตรกลีเซอไลน์ในเซลล์ตับ เมื่อนานวันเข้าก็จะก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นมา
2. ตับแข็ง สาเหตุหลักเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และไขมันพอกตับเรื้อรัง โดยเมื่อเกิดตับแข็ง ก็ทำให้อัตราการเกิดมะเร็งตับเพิ่มสูงขึ้น มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้
3. มะเร็งตับ เกิดจากภาวะตับแข็งจากทุกสาเหตุไม่ว่าจะจากแอลกอฮอล์ หรือไวรัสตับอักเสบ มะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการ เช่น ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่ ท้องบวมขึ้น น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร อ่อนเพลีย ตัวเหลืองและตาเหลือง เป็นต้น
พฤติกรรมเสี่ยงโรคตับ
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตับมีปัญหาและเกิดโรคตับ มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของแต่ละคนที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อสุขภาพของตับ ได้แก่
1. รับประทานอาหารปิ้งย่าง อาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ประเภท ปิ้งย่าง ของทอด ของมันๆ และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ ชีส กุ้ง ปูไข่ ไข่แดง จะทำให้ร่างกายมีไขมันส่วนเกินมากเกินไป จนทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดการสะสมที่ตับจนนำไปสู่โรคไขมันพอกตับ ส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรัง จนนำไปสู่ภาวะตับแข็งในที่สุด
2. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะเสี่ยงเป็นโรคตับมากกว่าใคร เนื่องจากแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้มีไขมันสะสมในตับ เกิดการอักเสบและเกิดพังผืดในตับ และเมื่อตับอักเสบนานๆ เข้าก็จะก่อให้เกิดภาวะตับแข็งตามมาในไม่ช้า
3. การรับประทานยาและอาหารเสริม เมื่อร่างกายได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูง หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ตับก็จะไม่สามารถทำลายได้ทัน เหลือเป็นส่วนเกินและมีฤทธิ์ทำลายเนื้อตับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับจนกลายเป็นภาวะตับวายได้
4. ภาวะอ้วนลงพุง เมื่อมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป จนทำให้เกิดการสะสมของไขมันที่ตับ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง
5. การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรืออยู่ภายในสิ่งแวดล้อมที่มีควันจากบุหรี่ นอกจากส่งผลต่อปอดแล้วยังสามารถส่งผลถึงตับได้ด้วย การสูบบุหรี่จะส่งผลต่อการทำงานของตับผ่านการสูดดมควันบุหรี่ และผ่านสารนิโคตินที่มีสารอนุมูลอิสระปะปนอยู่ ซึ่งจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้น
6. รับประทานน้ำตาลมากจนเกินไป โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งมักพบในเครื่องดื่มที่มีรสหวานจะเปลี่ยนเป้นไขมันสะสมอยู่ในตับ ดังนั้นถ้าเรารับประทานอาหารที่มีฟรุกโตสมากเกินไปจึงเป็นการทำร้ายตับ การมีระดับน้ำตาลที่สูงทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับจนกลายเป็นโรคไขมันพอกตับได้ แม้ในผู้ที่ไม่อ้วนก็ตาม
หากไม่อยากเป็นโรคตับ ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวที่เสี่ยงให้เกิดโรคตับ เช่น การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานของหวาน ของมัน หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกายเป็นประจำ และระวังเรื่องน้ำหนักตัวอย่าให้เกินมาตรฐาน รวมถึงการไปตรวจเช็คสุขภาพประจำปี อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี เพื่อรักษาตับให้มีสุขภาพดีอยู่กับร่างกายไปได้นานที่สุด รวมไปถึงระบบอื่นๆ ภายในร่างกายก็จะได้รับผลดีตามไปด้วยเช่นกัน