Doctor At Home: อีดำอีแดง (Scarlet fever)

  • 0 ตอบ
  • 962 อ่าน
Doctor At Home: อีดำอีแดง (Scarlet fever)
« เมื่อ: 07สิงหาคม2024, 22:24:12pm »
Doctor At Home: อีดำอีแดง (Scarlet fever)

อีดำอีแดง (ไข้อีดำอีแดง ก็เรียก) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้มีผื่นแดงขึ้นตามตัวร่วมกับทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในเด็กอายุ 5 -15 ปี ในปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลง เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A beta-hemolytic Streptococcus) สายพันธุ์ที่สร้างสารพิษ (erythrogenic exotoxin) ออกมาทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสมือผู้ป่วย สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ

ระยะฟักตัว 2-7 วัน

โรคนี้มักเกิดร่วมกับทอนซิลอักเสบ แต่บางครั้งอาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่ตำแหน่งอื่น เช่น ผิวหนัง แผลผ่าตัด มดลูก เป็นต้น


อาการ

แรกเริ่มจะมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย

1-2 วันหลังมีไข้จะมีผื่นแดงขึ้นที่คอ หน้าอก และรักแร้ แล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขาภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย อาจมีอาการคัน ต่อมาผื่นจะปรากฏเด่นชัด (เข้มข้น) ในบริเวณร่องหรือรอยพับของผิวหนัง (โดยเฉพาะที่คอ รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ ข้อพับขา) แล้วต่อมาในบริเวณเหล่านี้จะปรากฏเป็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งเรียงเป็นเส้น (เนื่องจากการแตกของหลอดเลือดฝอย) เรียกว่า “เส้นพาสเตีย (Pastia’s lines)”

ผื่นจะเริ่มจางหายหลังขึ้นได้ 3-4 วัน หลังจากผื่นจางได้ประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกของผิวหนัง มักเห็นเด่นชัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าซึ่งอาจเห็นลอกเป็นแผ่น ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุย อาการผิวหนังลอกเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ บางรายอาจลอกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์


ภาวะแทรกซ้อน

เช่นเดียวกับทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีทอนซิล ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้รูมาติก หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

มักตรวจพบไข้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ทอนซิลบวมแดง และมักมีแผ่นหรือจุดหนองขาว ๆ เหลือง ๆ ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ

หน้าแดง แต่บริเวณรอบปากซีด

ในช่วง 2 วันแรกของไข้ อาจพบลิ้นมีฝ้าขาวปกคลุมและมีตุ่มแดงยื่นขึ้นเป็นตุ่ม ๆ สลับคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี เรียกว่า ลิ้นสตรอว์เบอร์รีขาว (white strawberry tongue)

ในช่วงหลังวันที่ 4 ของไข้ ฝ้าขาวที่ลิ้นจะลอกเป็นสีแดง ทำให้เห็นเป็นลิ้นสตรอว์เบอร์รีแดง (red strawberry tongue)

ตามผิวหนังจะพบผื่นแดงคล้ายกระดาษทราย และพบเส้นแดงคล้ำตามรอยพับ (เช่น ข้อศอก ขาพับเรียกว่า "เส้นพาสเตีย (Pastia’s lines)") ในช่วงประมาณสัปดาห์แรก และในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ไปแล้วมีอาการผิวหนังลอก

ในรายที่อาการไม่ชัดเจน อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Rapid strep test, การเพาะเชื้อ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาแบบเดียวกับทอนซิลอักเสบ

ที่สำคัญ คือ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี, อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น

ผลการรักษา เมื่อกินยาปฏิชีวนะได้ครบตามที่แพทย์แนะนำ ก็มักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้ากินไม่ครบหรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งหากกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน หรือไข้รูมาติก ก็อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะร้ายแรงได้


การดูแลตนเอง

หากมีอาการไข้ เจ็บคอ และผื่นขึ้นตามตัว หรือสงสัยว่าเป็นอีดำอีแดง ควรปรึกษาแพทย์ หากตรวจพบว่าเป็นอีดำอีแดง ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้

    พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ ห้ามอาบน้ำเย็น และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
    กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน
    กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
    ถ้าเจ็บคอมากให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ หรืออมก้อนน้ำแข็ง
    กินยาบรรเทาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้) และกินยาปฏิชีวนะ (ในรายที่แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย) ให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
    ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด

ควรกลับไปพบแพทย์ หากมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อนี้

    มีอาการผิดสังเกตแทรกซ้อนตามมา เช่น ปวดศีรษะมาก ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก ปวดหู หูอื้อ กลืนลำบาก ปวดที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว หายใจหอบ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดบวมตามข้อ มีผื่นขึ้นตามตัว เท้าบวม ปัสสาวะสีแดง เป็นต้น
    ดูแลรักษา 3-4 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นอีดำอีแดงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดผู้อื่น


ข้อแนะนำ

1. ควรเน้นให้กินยาปฏิชีวนะจนครบตามระยะที่กำหนด

2. ควรแยกผู้ป่วย จนกว่าจะให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น

3. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว


 

โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี google ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google